นักวิทยาศาสตร์ ใช้ AI ช่วยคาดการณ์ การดื้อยาเคมีบำบัด ในการรักษามะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ ในสหรัฐอเมริกา พัฒนาเครื่องมือ AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า เซลล์มะเร็งชนิดใดที่จะดื้อยาเคมีบำบัด เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น

มะเร็ง ถือเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก การรักษามะเร็งในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี แต่หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการทำ คีโม

เคมีบำบัดเป็นการใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แต่เซลล์มะเร็งก็สามารถพัฒนากลไกเพื่อต่อต้านยาเคมีบำบัดได้ ทำให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ประสบความสำเร็จในผู้ป่วยบางราย

ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา พัฒนาเครื่องมือ AI ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเซลล์มะเร็งชนิดใดจะดื้อยาเคมีบำบัด เครื่องมือนี้อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งจำนวนมาก เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการกลายพันธุ์กับการดื้อยาเคมีบำบัด

จากการศึกษาในเซลล์มะเร็งปากมดลูก พบว่าเครื่องมือนี้สามารถคาดการณ์การตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้อย่างแม่นยำ โดยสามารถระบุเซลล์มะเร็งที่มีโอกาสดื้อยาเคมีบำบัดได้ล่วงหน้า

การพัฒนาเครื่องมือนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงการรักษามะเร็ง เพราะจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการดื้อยาเคมีบำบัด และเพิ่มโอกาสในการหายขาดของผู้ป่วย

แต่ก็ยังมีความท้าทายในการพัฒนา เพราะจำเป็นต้องมีข้อมูลการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งจำนวนมากจึงจะสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ และตอนนี้เครื่องมือยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบ จึงยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นการพัฒนาเครื่องมือนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในวงการแพทย์ และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ช่วยปรับปรุงการรักษามะเร็งได้ในอนาคต

สำหรับงานวิจัยนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Discovery เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก Interesrting Engineering
ภาพประกอบจาก Freepik