LINE ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจหลัก ผลักดันเศรษฐกิจและชีวิตคนไทย เติบโตต่อได้อย่างยั่งยืน

LINE ประเทศไทย เผยข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน LINE เพื่อการทำงานของคนไทย ตอนนี้ Gen Y คือ “เดอะแบก” ที่รับภาระหนักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ท่ามกลางโครงสร้างประชาชนที่กำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย เตรียมเดินหน้าพัฒนาโซลูชันตอบโจทย์การทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้าง Work Life Balance ให้กับผู้ใช้มากขึ้น รวมถึงขยายบริการเดิมสู่ธุรกิจใหม่ ที่ช่วยให้ทั้งผู้ใช้งานและพันธมิตรทางธุรกิจเติบโตไปพร้อมกัน

เปิดพฤติกรรม Gen Y ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านแชต

เมื่อมองถึงการใช้เทคโนโลยีของคนไทย เพื่อการทำงานและการทำธุรกิจบน LINE คนไทยเป็นชาติที่มีลักษณะเฉพาะในการใช้ LINE โดยใช้งานทั้งกับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกเจนที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน คือ ตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเจน Y โดยมีมากถึง 82% ที่ใช้งาน Group Chat บน LINE เพื่อการทำงาน โดยมีการใช้ LINE Call ควบคู่กันด้วย และมีมากถึง 88% ที่ใช้งาน LINE บนคอมพิวเตอร์ สะท้อนชัดถึงการใช้ LINE เพื่อการทำงาน นอกจากนั้น กลุ่มเจน Y ยังเป็นกลุ่มที่มีช่วงเวลาการใช้งาน LINE นานที่สุดถึงประมาณ 100 นาทีต่อวัน ในส่วนด้านการบริโภคจับจ่าย ยังพบว่าเจน Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายบน LINE มากที่สุด ด้วยยอดผู้ใช้จ่าย ซื้อของผ่าน LINE มากกว่าเจนอื่นๆ ถึง 2 เท่า โดยเฉพาะผู้ใช้งานเพศหญิง ทั้งนี้ โดยระหว่าง 8 โมงเช้าถึงเที่ยงวัน ในวันจันทร์ถึงศุกร์ จะมีการเข้าใช้งาน LINE OA มากที่สุด

LINE ประเทศไทย Chat Economy

ทิศทางเทคโนโลยีบน LINE ตอบโจทย์คนวัยทำงานและคนทำธุรกิจ

ด้วยยอดการใช้งาน LINE ผ่านฟีเจอร์ Group Chat และการใช้งาน LINE บนคอมพิวเตอร์ของคนไทย ที่สะท้อนถึงความนิยมในการทำงานผ่าน LINE นอกเหนือจากการติดต่อทั่วไปในชีวิตประจำวัน นำมาสู่ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานผ่านแชตในปัจจุบัน โดย LINE ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว จึงได้มีแผนการสำรวจและวิจัยเรื่องการใช้งาน Group Chat ในเชิงลึก เพื่อนำมาพัฒนาฟีเจอร์ที่จะช่วยคนไทยให้สามารถใช้ LINE ได้ ทั้งสำหรับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน แต่ยังคงความสมดุลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังมีแผนการนำเทคโนโลยี AI ทั้งในส่วนที่ LINE พัฒนาเองและจากภายนอก เข้ามาเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น

ในด้านของการทำธุรกิจ LINE OA ยังคงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ สำหรับธุรกิจทุกขนาดและทุกประเภท ซึ่งโดยปัจจุบันมียอดการเปิดใช้งานสูงถึง 6 ล้านบัญชี อีกทั้ง ยังมีกลุ่มเครื่องมือจาก LINE OA Plus ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องมือที่คิดค้นและพัฒนาโดยทีมนักพัฒนาของ LINE ในประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งาน LINE OA ให้เป็นมากกว่าช่องทางเพื่อการสื่อสาร แต่สามารตอบโจทย์ที่หลากหลายตามความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจได้ในเชิงลึก

โดยในปีนี้ LINE มีแผนพัฒนากลุ่มเครื่องมือภายใน LINE OA Plus อย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกเครื่องมือใหม่ MyCRM สำหรับจัดการ บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าด้วยฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นเฉพาะด้านที่ครบครัน พร้อมการพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือเดิมอย่าง MyCustomer สำหรับการจัดเก็บและจัดการข้อมูลลูกค้า ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ให้ครบเครื่องเพื่อการทำธุรกิจด้วยดาต้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับโฉมใหม่เครื่องมือ MyRestaurant สำหรับการบริหาร จัดการธุรกิจร้านอาหาร ให้ตอบสนองตลาดได้ดีกว่าเดิม การเปิดตัว LINE OA Store อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางให้แบรนด์ได้สามารถมองหาและเข้าถึงพาร์ทเนอร์ ผู้สรรค์สร้างโซลูชั่นเชิงเทคโนโลยีที่ใช่ และเป็นพื้นที่ให้บริษัทฯ นักพัฒนาทั่วไปได้นำเสนอโซลูชั่นบน LINE ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ LINE ยังมีแผนจัดตั้ง Blue Badge Guide Awards การประกาศรางวัลให้กับร้านค้า ธุรกิจไทย ที่มีความใส่ใจในเรื่องการออกแบบธุรกิจที่ครบในทุกด้าน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานร้านค้าไทยทั้งในเชิงการสร้างแบรนด์ควบคู่กับการทำธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ LINE ยังเผยแนวคิดในการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้ Myshop เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเปิดร้านสำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกธุรกิจ เฉกเช่นการสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์ และการใช้ Market Place ที่กลายเป็นกลยุทธ์ยอดฮิตในการดำเนินธุรกิจของตลาดฝั่งตะวันตก แต่สำหรับตลาดประเทศไทย ด้วยความง่าย ความคุ้นชินในการใช้งาน LINE Chat และ LINE Official Account (LINE OA) ของผู้บริโภค และการเชื่อมต่อเครื่องมือที่สะดวก ง่ายดาย และฟรี สำหรับผู้ประกอบการไทย ถือเป็นพื้นฐานทีสำคัญที่จะช่วยให้ Chat Economy บน LINE สามารถขับเคลื่อน E-commerce ในประเทศไทย ให้เติบโตได้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับ Market Place ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

พัฒนาธุรกิจกลุ่มไลฟ์สไตล์ ขยายการเติบโต

 ไม่เพียงด้านธุรกิจเท่านั้น ในด้านไลฟ์สไตล์ LINE ยังคงรับฟังและพัฒนาบริการต่างๆ ให้ตอบโจทย์การเติบโต และความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการอิสระแต่คงความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียวกัน LINE OpenChat ถือเป็นหนึ่งบริการที่เป็นที่นิยมของคนทุกวัย ด้วยยอดการใช้งานสูงสุดถึง 10 ชม.ต่อวัน เรียกได้ว่าเป็นบริการที่สามารถสร้างปรากฎการณ์ในเชิงสถิติการเข้าใช้งานที่ยาวนานที่สุด หรือที่เราเรียกว่า ‘Always On’ เมื่อเทียบกับบริการอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานประจำ 17 ล้านคนต่อเดือน ในปีนี้ LINE OpenChat มีแผนพัฒนาฟีเจอร์ LIVE Talk เปิดการพูดคุยแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นการเปิดประสบกาณ์แบบใหม่แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวแบบไม่เปิดเผย พร้อมมีแผนพัฒนาให้เปิดพื้นที่สำหรับอินฟลูเอนเซอร์บนโลกของ LINE อีกด้วย

LINE ประเทศไทย Chat Economy

ในขณะที่บริการอื่นๆ LINE มีแผนที่จะพัฒนาและขยายธุรกิจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น LINE TODAY ที่จะมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายมากขึ้น จากแหล่งรวมข่าวสาร สาระมากมาย สู่ธุรกิจแห่งความหลากหลายของคอนเทนต์ LINE STICKERS ที่จะขยายขอบเขตธุรกิจ licensing เพื่อผลักดันศักยภาพอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ในไทย ดังเช่นตัวอย่างความสำเร็จล่าสุดจากโปรเจคความร่วมมือระหว่าง K Plus และ LINE Creators LINE MELODY ที่จะมุ่งขยายธุรกิจจากการทำธุรกิจเพลง สู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีโดยรวม ด้วยหลากหลายกิจกรรมการส่งเสริม พร้อมเปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก หรือศิลปินอิสระ สามารถเข้ามาเป็นพันธมิตรในการสร้างรายได้และการเติบโต และ LINE HORO ที่จะขยายธุรกิจจากบริการดูดวง ขอพร ทำบุญออนไลน์ สู่การบริจาคยุคใหม่ Donation on LINE ที่สะดวกและเชื่อถือได้ โดยล่าสุดได้พิสูจน์ความสำเร็จจากโครงการบริจาคโลงศพ และโครงการระดมทุนรับบริจาคช่วยเหลือสังคม ที่ร่วมมือกับเทใจ ด้วยยอดเงินบริจาคมากกว่า 2 ล้านบาทภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

“จากข้อมูลทั้งในเชิงโครงสร้างสังคม และพฤติกรรมของคนไทยในการใช้งานแพลตฟอร์ม LINE ที่เปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามุ่งเน้นการพัฒนา ปรับปรุงการใช้งานบริการต่างๆ ของเราให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อตอบสนองสิ่งที่คนไทยต้องการ ด้วยผีมือทีมนักพัฒนาแห่ง LINE ประเทศไทย ที่สามารถออกแบบเครื่องมือ และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนไทย เรามั่นใจว่า LINE ประเทศไทย จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นแรงผลักดันเชิงบวกให้กับประเทศได้ ด้วย Chat Economy ที่เกิดขึ้นโดยวิถีของคนไทย สู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และพัฒนาประเทศไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันในแบบฉบับของเราเองได้ในที่สุด”