รวม 10 ระบบปฏิบัติการทางเลือก สำหรับคนเบื่อ Windows, macOS, และ Linux! – ตอนที่ 2

เมื่อวานนี้เราได้นำเสนอระบบปฏิบัติการนอกกระแสไปแล้ว 5 ระบบปฏิบัติการ  จากทั้งหมด 10 ระบบปฏิบัติการด้วยกัน (ใครยังไม่ได้อ่าน เข้าไปอ่านกันได้ที่นี่)

วันนี้เรามาดูกันต่อกันเลยดีกว่า  กับอีก 5 ระบบปฏิบัติการนอกกระแสที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้!

6. FreeDOS

ย้อนไปเมื่อปี 1994 ช่วงก่อนที่ไมโครซอฟท์จะออก Windows 95 ทางไมโครซอฟท์ได้ออกมาประกาศว่าจะหยุดการสนับสนุนระบบปฏิบัติการ MS-DOS ลง  แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม  สมัยนั้นยังมีโปรแกรมจำนวนมากที่รันอยู่บน MS-DOS (แม้ว่าโปรแกรมเหล่านั้นจะเอามารันบน MS-DOS Prompt หรือรันจากการบู๊ตเข้า DOS Mode ใน Windows 95 ได้  แต่ในเมื่อจะใช้แค่ DOS ทำไมต้องซื้อ Windows ใหม่  ถูกไหม?)

ดังนั้นแล้วจึงเกิดโครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการตัวใหม่ขึ้นในนาม FreeDOS โดยมีเป้าหมายให้สามารถเข้ากันได้ 100% กับ MS-DOS สามารถนำโปรแกรมต่างๆ ของ MS-DOS มาใช้งานได้ทันที  โดย FreeDOS นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นแบบ Opensource ทั้งหมด

FreeDOS ในปัจจุบันถูกใช้กันบนคอมพิวเตอร์ที่ยังต้องการรันโปรแกรมสมัย DOS อยู่ (ซึ่งมันยังมีอยู่จริงๆ นะ) หรือบางครั้งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ก็มักจะขายเครื่องเปล่าที่มาพร้อมกับ FreeDOS เพื่อจะได้ขายเครื่องได้ในราคาถูกลง (ไม่ต้องรวมค่าไลเซนส์วินโดวส์) แล้วให้ผู้ใช้ไปลงวินโดวส์ทีหลังเอาเองนั่นเอง

และด้วยความเล็กของมัน  ยังทำให้ FreeDOS ถูกนำไปใช้ในคอมพิวเตอร์แบบฝังตัวอีกด้วย (เช่นหน้าจอโฆษณา) หรือเช่นบางทีที่เราเดินผ่านร้านขายคอม  แล้วหน้าจอเล่นสภาพสไลด์โชว์ง่ายๆ บอกราคา สเป็คเครื่อง และโปรโมชัน  บางทีสไลด์โชว์เหล่านั้นก็รันอยู่บนโปรแกรมที่รันบน FreeDOS ด้วยนะครับ

อ้อ FreeDOS สามารถเอามาลงส่วนติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก (GUI) ได้ด้วยนะครับ  ตัวยอดนิยมก็อย่างเช่น OpenGEM หรือแม้แต่จะเอามาลงกับ Windows 1.x – 3.x ก็ได้เช่นกัน

freedos

freedos-opengem

7. Chrome OS

เชื่อว่าเราคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับ Chrome OS กันมาบ้างแล้ว  โดยตัว Chrome OS นั้นแม้ว่าจะเป็นการพัฒนาต่อยอดขึ้นมาจาก Linux (เฉกเช่นเดียวกับ Android) แต่ส่วนที่ใช้งานจริงๆ นั้นจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับ Linux เลย  หากแต่จะเป็นส่วนติดต่อผู้ใช้ที่เขียนขึ้นด้วย HTML5 และมีเอ็นจิ้นของ Chrome ทำงานอยู่เบื้องหลังนั่นเอง

นั่นหมายความแอพต่างๆ บน Chrome OS นั้นจะถูกเขียนด้วย HTML5 ทั้งหมด

ปัจจุบันนี้ Chrome OS จะมีส่วนแบ่งหลักอยู่ในตลาดภาคการศึกษาครับ  เนื่องด้วยในภาคการศึกษานั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้งานอะไรที่หนักหนาสักเท่าไหร่นัก  แทบทุกอย่างสามารถใช้งานได้ผ่านเว็บเบราเซอร์อยู่แล้ว  ทั้งอีเมล  ปฏิทิน  การจดโน๊ต  หรือแม้แต่งานเอกสาร  ดังนั้นแล้วโน๊ตบุคที่ใช้งาน Chrome OS (หรือที่เรียกกันว่า Chromebook) จึงไม่จำเป็นต้องมีสเป็คสูง  อีกทั้งตัวระบบปฏิบัติการก็เป็น Opensource จึงไม่มีค่าไลเซนส์ในการใช้งาน  ทำให้ Chromebook มีราคาถูก  เหมาะกับตลาดการศึกษานั่นเองครับ (โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสามารถซื้อมาแจกให้นักเรียนใช้ได้  ในราคาที่ไม่แพงนัก)

chromeos

8. FreeBSD

เรารู้กันว่า Linux เป็นระบบปฏิบัติการที่เขียนขึ้นมาใหม่หมด  โดยให้มีความเข้ากันได้กับระบบปฏิบัติการ UNIX ซึ่ง FreeBSD เองก็เป็นระบบปฏิบัติการในลักษณะเดียวกันครับ

ความต่างของ Linux และ FreeBSD คือในความเป็นจริงแล้ว Linux นั้นมีเพียงแค่ส่วน Kernel ของระบบเท่านั้น  จากนั้นก็มีคนเอาเคอร์เนล Linux นี้ไปมัดรวมกับแพ็คเกจซอฟต์แวร์ต่างๆ  แล้วแจกจายออกสู่สาธารณะ (เราเรียกระบบปฏิบัติการพวกนี้  เช่น Ubuntu, Fedora, elementarOS ว่า “ดิสโทร”)

ในขณะที่ FreeBSD นั้นนอกจากส่วนเคอร์เนลที่พัฒนาขึ้นมาเองแล้ว  ก็ยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์อื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา  เพื่อเติมเต็มความเป็นระบบปฏิบัติการให้กับ FreeBSD ด้วยนั่นเองครับ  ด้วยเหตุนี้เอง FreeBSD จึงขึ้นชื่อว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงและเสถียรกว่า Linux หากแต่ Linux ก็ได้เปรียบตรงที่มีการพัฒนาที่เร็วกว่า  และรองรับอุปกรณ์ต่างๆ มากกว่า

ข้อแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ FreeBSD กับ Linux นั่นคือเรื่องของไลเซนส์ครับ  โดยทาง Linux จะเผยแพร่เป็น GPL ที่ถ้าหากเรานำเอา Linux มาใช้ แก้ไข ดัดแปลงส่วนต่างๆ เราจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ซอร์สโค๊ดที่เราแก้ไขออกเป็น GPL ด้วย (แน่นอนว่าขายได้  แต่ต้องเปิดเผยซอร์สโค๊ด) ในขณะที่ FreeBSD นั่นเผยแพร่ด้วยไลเซนส์แบบ BSD ที่อนุญาตให้นักพัฒนาสามารถเอาซอร์สโค๊ดไปแก้ไขได้โดยไม่ต้องเปิดเผยซอร์สโค๊ดกลับสู่สาธารณะ

freebsd

9. Oracle Solaris

ระบบปฏิบัติการตัวนี้สามารถย้อนมหากาพย์ไปได้ถึงสมัย Sun Microsystem นู่นเลยครับ  โดยทาง Sun นั้นมีระบบเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองที่ชื่อว่า SPARC อยู่  ซึ่งในตอนแรก Sun มีระบบปฏิบัติการที่ชื่อ SunOS ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก BSD อยู่ก่อนแล้ว  และต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาต่อจาก UNIX System V และใช้ชื่อว่า Solaris

ในเวลาต่อมา Sun ก็เปิด Solaris ออกมาเป็น Opensource ในชื่อว่า OpenSolaris และได้ชุมชนพัฒนาขึ้นมาในระดับหนึ่ง (ผมเคยลองใช้ OpenSolaris อยู่พักหนึ่ง  รู้สึกมันทำงานรวดเร็วและเสถียรกว่า Ubuntu ในสมัยนั้นมาก) แต่ต่อมา Oracle เข้าซื้อ Sun ก็ทำงานปิดซอร์ส OpenSolaris ลง  แล้วเอามาทำต่อเองในชื่อ Oracle Solaris

อย่างไรก็ดี  แม้ว่า Oracle จะปิดซอร์ส Solaris ลงไปแล้ว  แต่ก็ยังคงมีการพัฒนาอยู่เพื่อใช้กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของออราเคิลและซัน  อีกทั้งยังปล่อยให้ผู้สนใจดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรีๆ อีกเช่นกัน (แต่ถ้าหากต้องการใช้ในเชิงพาณิชย์  จำเป็นต้องซื้อซัพพอร์ตจาก Oracle)

เรื่องราวการเข้าซื้อ Sun ของ Oracle นั้นเป็นมหากาพย์มากครับ  ซอฟต์แวร์ดีๆ หลายตัวที่ Sun ปั้นขึ้นมากับมือต่างโดนหางเลขจากการเข้าซื้อครั้งนั้น  ส่งแรงกระเพื่อมไปยังชุมชนนักพัฒนา  จนสั่นคลอนและทำท่าจะล้มระเนระนาดกันไปเป็นแถบๆ  ทั้ง MySQL ที่คนหนีไปทำ MariaDB, ภาษา Java ที่ออราเคิลพัฒนาช้ามากจนแฟนๆ ถอดใจ, หรือล่าสุดอย่าง OpenOffice ที่คนหนีไปทำ LibreOffice กันหมด  จนอาจจะต้องหยุดพัฒนาลง

solaris

10. TempleOS

มาถึงระบบปฏิบัติการตัวสุดท้ายกันแล้ว  กับระบบปฏิบัติการสุดอินดี้ TempleOS

TempleOS เป็นระบบปฏิบัติการที่มีแนวคิดไปทางศาสนาจ๋าสุดๆ (ผู้พัฒนากล่าวว่า TempleOS นั้นคือวิหารของพระเจ้าอย่างแท้จริง  แถมในตัว OS ยังมีแอพไว้ให้ Quote ไบเบิลใยตัวด้วยนะ) มันถูกพัฒนาขึ้นโดยโปรแกรมเมอร์เพียงคนเดียวคือนาย Terry A. Davis ในเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา  และแม้ว่า TempleOS จะเป็นระบบปฏิบัติการแบบ 64 บิต  สามารถใช้งานได้บนคอมพิวเตอร์สมัยใหม่  แต่ในด้านการรองรับฮาร์ดแวร์แล้ว  มันแทบจะไม่รองรับอะไรเลย  มันไม่มีความสามารถด้านเครือข่ายเสียด้วยซ้ำ!

แต่ความเจ๋งของ TempleOS นั้นคือระบบปฏิบัติการทั้งหมดถูกเขียนขึ้นโดยตัวนาย Davis เพียงคนเดียว  โดยไม่มีการยืมโค๊ดจากโครงการอื่นใดทั้งสิ้น  อีกทั้งภาษาที่ใช้พัฒนาระบบปฏิบัติการ  ก็เป็นภาษา HolyC ที่เขาพัฒนาขึ้นมาเอง  โดยเขาเริ่มเขียนคอมไพลเลอร์ของ HolyC นี้ขึ้นมาเองจากภาษา Assembly อีกด้วย  โดยคอมไพลเลอร์ HolyC นี้จะทำงานแบบ JIT (Just-In-Time) ที่จะคอมไพล์โค๊ดในระหว่างทำงาน

นอกจากนี้แล้วภาษา HolyC ยังถูกใช้เป็นสั่งการ Shell ของระบบอีกด้วย

ส่วนตัวผมบอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามันเป็นระบบปฏิบัติการแบบ Graphical หรือแบบ Command-line เพราะมันมีทั้งสองส่วนอยู่ในที่เดียวกัน

templeos


ความเห็นของเรา

ในชีวิตประจำวันเรานั้นคงมีโอกาสได้พบเจอกับระบบปฏิบัติการอยู่เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น  ซึ่งบางทีก็ตกใจเหมือนกันที่พบว่าปัจจุบันยังมีระบบปฏิบัติการอื่นๆ หลงเหลืออยู่มากถึงขนาดนี้ (นับกันจริงๆ ก็มีมากกว่านี้อีก) อย่างไรก็ดี  ระบบปฏิบัติการเหล่านี้อาจจะไม่ได้พัฒนาได้รวดเร็วเหมือนอย่างระบบปฏิบัติการที่เป็นเจ้าตลาด  ที่มีทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ในการพัฒนาครับ

ที่มา – TechRadar เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดยทีมงาน TechOffside.com