Kim Dotcom วางแผนเปิดให้บริการ Megaupload อีกครั้ง

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งเมื่อสี่ปีก่อนนั่นคือข่าวที่ทาง FBI ได้สั่งปิดเว็บไซต์ฝากไฟล์ชื่อดังอย่าง Megaupload ของนาย Kim Dotcom (ชื่อเดิมคือ Kim Schmitz และมาเปลี่ยนนามสกุลทีหลัง) โดยกล่าวว่าเป็นดังกล่าวเป็นแหล่งแพร่กระจายเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์  และเจ้าของเว็บเองก็รู้เห็นเป็นใจกับเรื่องนี้

ในอดีตนั้นเว็บ Megaupload เคยทำเงินให้กับ Kim Dotcom จำนวนมหาศาล  ในช่วงพีคสุดเว็บมีสมาชิกถึงกว่า 150 ล้านบัญชี  มียอดเข้าชม (หรือเข้าไปโหลดไฟล์นั่นเอง) กว่า 50 ล้านครั้งต่อวัน  ซึ่งทำเงินให้กับ Kim ถึงกว่าวันละ 115,000 ดอลลาร์สหรัฐ  หรือกว่าวันละสี่ล้านบาท

ซึ่งหลังจากเว็บถูกปิดลงไป นาย Kim เองเคยพยายามกลับเข้ามาในธุรกิจแชร์ไฟล์ด้วยการเปิดตัวเว็บ Mega.co.nz แต่กลับมีปัญหากับผู้ร่วมลงทุนคนอื่น  เขาจึงค่อยๆ ผละตัวออกจากเว็บนี้  และไม่ได้เกี่ยวข้องกันอีก

ล่าสุดนี้ Kim Dotcom ออกมาประกาศผ่านทาง Twitter ว่าตัวเขาจะเปิดให้บริการเว็บ Megaupload อีกครั้งในวันที่ 20 มกราคม 2017 ซึ่งจะเป็นวันครบรอบห้าปีที่เว็บโดนปิดไปพอดี  ซึ่งนาย Kim เองได้ให้รายละเอียดเอาไว้เพียงแค่ว่าเว็บ Megaupload ใหม่นี้  จะมีการใช้ Bitcoin เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  แต่ยังไม่ได้เผยรายละเอียดอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ทั้งนี้นาย Kim ได้กล่าวว่า  ถ้าอยากได้สิทธิ์เข้าใช้ Beta ให้ทวีตว่า “#Megaupload is coming back” ซึ่งเขาจะส่งคำชวนเข้าร่วมทดสอบรุ่น Beta ให้ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนเปิดตัวจริง

ความเห็นจากเรา

ย้อนกลับไปในยุคนั้น  เว็บฝากไฟล์ชื่อดังก็คงมีอยู่สองเจ้าด้วยกัน  นั่นคือ Megaupload และ Rapidshare (ซึ่งตอนนี้ปิดบริการไปแล้วทั้งคู่) ซึ่งทั้งสองเจ้านั้นต่างขึ้นชื่อเรื่องความเร็วที่มากกว่าเว็บอื่นอย่างเห็นได้ชัด (ถ้าเป็นพรีเมียม)

อย่างไรก็ดีทุกคนต่างรู้กันว่าทั้งสองเว็บนั้นเป็นเว็บฝากไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่  ซึ่งการที่การกวดขันเรื่องลิขสิทธิ์ที่หนักขึ้นทุกวันทำให้เจ้าของเนื้อหาล้วนต้องการปิดเว็บนี้ลง  ซึ่งแน่นอนว่าในตอนหลังพวกเขาทำได้สำเร็จ

ทุกวันนี้มีบริการฝากไฟล์ผุดขึ้นจำนวนมาก  ซ้ำแล้วคนยังหันไปพึ่งพา Cloud Storage ในการแชร์ไฟล์กันมากขึ้นอีกด้วย  น่าสนใจว่า Megaupload โฉมใหม่จะต่อสู้กับผู้ให้บริการรายอื่นๆ รวมถึง Cloud Storage ที่มีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Google และ Microsoft ได้อย่างไร  และที่สำคัญคือมันจะกลายเป็นแหล่งรวมเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จนต้องถูกปิดอีกหรือไม่  ต้องติดตามกันดูครับ

ที่มา – Ars Technica