AIS ร่วมกับ กสทช. สร้าง Cell Broadcast Service ระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ เตรียมใช้งานจริงภายในปีนี้

AIS (เอไอเอส) ร่วมกับ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เดินหน้าสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ Cell Broadcast Service ที่สามารถส่งข้อความเตือนในพื้นที่เหตุด่วนเหตุร้ายได้ทันที

ทาง กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม ได้ทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ (Cell Broadcast Service) โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)

Cell Broadcast Service (CBS)

ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องในบริเวณนั้น ซึ่งจะแตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่ต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ในการส่ง ทำให้สามารถสื่อสารข้อมูลเตือนภัยหรือแจ้งข่าวด่วนของทางหน่วยงานรัฐได้อย่างรวดเร็ว โดยกำหนดตำแหน่งเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ

AIS Cell Broadcast Service

“การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast Service ซึ่ง กสทช.เริ่มต้นกับ AIS ในวันนี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากลสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยทางสังคมให้กับประเทศต่อไป” ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าว

ทางด้านของ AIS ได้ทำงานร่วมกับ กสทช. และภาครัฐ เลือกเทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งมีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน  ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

AIS Cell Broadcast Service

โดยโครงสร้างในการนำเทคโนโลยี CBS มาใช้งานนั้น จะแบ่งเป็น 2 ฝั่งด้วยกันคือ

  • ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)
  • ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)

สำหรับการทดสอบตอนนี้ เอไอเอส มีความพร้อมที่จะให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานจริงได้ภายในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยแจ้งเตือนภัยได้ในเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึง เหตการณ์รุนแรงที่ไม่คาดคิด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว อย่างมีประสิทธิภาพ