ออสเตรเลีย สร้าง AI Chatbot แก้เผ็ด แก็งค์คอลเซนเตอร์ รับสายแทนแล้วชวนหลอกคุยให้เสียเวลาเล่นๆ

ปัจจุบันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มิจฉาชีพ ทางโทรศัพท์เป็นปัญหาที่กวนใจคนทั่วโลก นอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้เสียหายแล้ว ยังก่อให้เกิดความรำคาญอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จากมหาวิทยาลัย Macquarie University ใน ออสเตรเลีย ได้รวมตัวกันเพื่อพัฒนา “Apate” เป็น AI Chatbot ที่สามารถเลียนแบบมนุษย์ เป็นตัวหลอกล่อทำหน้าที่คอยรับสายโทรเข้าจากพวก Scammer แก็งค์คอลเซลเตอร์ โดยเป้าหมายของ Apate จะทำหน้าที่คุยสายถ่วงเวลาเอาไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อที่โจรเหล่านี้จะได้เสียเวลากับบอท เป็นการลดจำนวนโอกาสการหลอกลวงสายอื่นๆ ต่อไป

ออสเตรเลีย Chatbot มิจฉาชีพ

Apate คือ AI Chatbot ที่ได้รับการพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในออสเตรเลีย โดย Apate จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวล่อหลอก และเมื่อเหล่านักต้มตุ๋นติดกับ แชทบอทสุดเจ๋งนี้จะพาเหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีนี้เข้าสู่การสนทนาที่ไม่มีค่าอะไรเลยเป็นระยะเวลากว่า 40 นาที

ศาสตราจารย์ Dali Kaafar แห่งมหาวิทยาลัย Macquarie เล่าว่า เขาเกิดไอเดียในการพัฒนาโครงการนี้ จากการที่มีสายโทรจากพวกมิจฉาชีพเข้ามา แล้วเขาก็รับแล้วแก้เผ็ด ด้วยการคุยหลอกล่อกับพวกมันอยู่นานเกือบ 40 นาที ถึงแม้ว่าจะได้สะใจกับการได้เอาคืน และทำให้พวกมันเสียเวลาที่จะเอาไปหลอกคนอื่น แต่มันก็ทำให้เราเสียเวลาไปกับมันด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา Apate

Apate เป็นชื่อที่ตั้งตามเทพีแห่งการหลอกลวงของกรีก โดยใช้โมเดลของ ChatGPT และการลอกเลียนเสียงเพื่อสร้างมนุษย์จำลองที่ออกแบบมาเพื่อการสนทนาที่น่าเชื่อถือกับนักต้มตุ๋น ทีมงานได้ทดสอบ Apate ให้รับสายจากมิจฉาชีพจริง ๆ และแชทบอทนี้สามารถสร้างบุคลิกในการสนทนาได้หลากหลายรูปแบบ

โดยที่ในระยะการพัฒนาแชทบอทตัวนี้ มันสามารถเรียนรู้ในการดึงความสนใจและคุยกับมิจฉาชีพได้ระยะเวลานานสูงสุดถึง 5 นาที

การพัฒนา Apate ยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากเหล่ามิจฉาชีพใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI เช่น การเลียนแบบเสียง เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตนเอง ศาสตราจารย์ Kaafar จึงมองมุมกลับในการใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ เพื่อตอบโต้กับคนเหล่านี้

คงจะดีไม่น้อย หากเรามีแชทบอทหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ช่วยรับมือกับเหล่ามิจฉาชีพให้อยู่หมัด และช่วยลดปริมาณของผู้เสียหายจากการต้มตุ๋นเหล่านั้น

อ้างอิงจาก PCMag