Meta ขยายโครงการ ‘Take It Down’ เพิ่มบริการภาษาไทย เพื่อต่อสู้กับปัญหาการขู่แชร์ภาพโป๊เปลือยของเยาวชน

Facebook ประเทศไทย จาก Meta ประกาศขยายโครงการ Take It Down ในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่าในการจัดการรูปภาพส่วนตัวที่ถูก หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ โดยไม่ได้รับความยินยอม ไม่ว่าจะเป็นภาพเปลือย ภาพเปลือยบางส่วน หรือภาพอนาจาร โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง Meta กับศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCMEC) และพันธมิตรในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) และโครงการฮัก ประเทศไทย

โครงการ Take It Down เริ่มให้บริการในภาษาอังกฤษและภาษาสเปนเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นนวัตกรรมแรกในอุตสาหกรรมที่มีโครงการความร่วมมือให้บริการลบรูปภาพส่วนตัวออกจากอินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันการเผยแพร่บนโลกออนไลน์สำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ปัจจุบันได้ขยายบริการกว่า 25 ภาษาและดำเนินการในหลายประเทศ เข้าถึงวัยรุ่นหลายล้านคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

Facebook Meta Take It Down

คุณมาลีนา เอนลุนด์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Meta ระบุว่าการถูกนำภาพส่วนตัวไปเผยแพร่เป็นเรื่องที่เลวร้ายมากสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และจะยิ่งเลวร้ายขึ้นหากมีคนข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพเหล่านั้น หากเหยื่อปฏิเสธที่จะส่งภาพเพิ่มเติม มีกิจกรรมทางเพศ หรือส่งเงินให้ ซึ่งเป็นรูปแบบอาชญากรรมที่เรียกว่า “การขู่กรรโชกทางเพศ” Meta จึงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหลายองค์กรและครีเอเตอร์ทั่วโลก เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนในการควบคุมรูปภาพส่วนตัวและยับยั้งการเผยแพร่ภาพเหล่านั้นโดยมิจฉาชีพหรือบุคคลอื่นๆ การขยายบริการในไทยครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเยาวชน

พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก โดยในปี 2566 มีการจับกุมดำเนินคดีกว่า 540 คดี ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายและภาคเอกชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น

คุณวีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการฮัก ประเทศไทย พันธมิตรด้านความปลอดภัยของ Meta กล่าวว่าอาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศเด็กในรูปแบบการขู่แชร์ภาพเปลือยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายมาก เพราะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะเข้าสู่สภาวะวิกฤติของชีวิต การทำงานแบบบูรณาการอย่างใกล้ชิดทั้งภาครัฐ เอกชน และสื่อโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

Facebook Meta Take It Down

การใช้บริการ Take It Down ทำได้โดยไปที่เว็บไซต์ TakeItDown.NCMEC.org และปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อกำหนดค่าแฮช (ลายนิ้วมือดิจิทัล) ให้กับภาพหรือวิดีโอที่ต้องการ จากนั้นส่งค่าแฮชดังกล่าวให้ NCMEC เพื่อให้แพลตฟอร์มต่างๆ ตรวจสอบและลบเนื้อหานั้นออก โดยไม่ต้องส่งภาพหรือวิดีโอจริง จึงทำให้กระบวนการเป็นส่วนตัวและปลอดภัย บริการนี้เปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ที่กังวลว่ารูปภาพของตนเองที่ถ่ายก่อนอายุ 18 ปีจะถูกเผยแพร่

แม้จะมีเครื่องมือด้านความปลอดภัยจาก Take It Down แต่การตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมลักษณะนี้ก็ยังสร้างความไม่สบายใจและทำให้เหยื่อต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจรู้สึกกลัวและอับอายจนไม่กล้าขอความช่วยเหลือ ดังนั้น Meta จึงร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการพัฒนาแนวทางและคำแนะนำใหม่ๆ สำหรับการจัดการกับเหตุการณ์ขู่กรรโชกทางเพศ รวมถึงคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและครูในการช่วยเหลือบุตรหลานและนักเรียน โดยข้อมูลเหล่านี้อยู่ในแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการขู่กรรโชกทางเพศ ภายในศูนย์การรักษาความปลอดภัยของ Meta ซึ่งให้บริการกว่า 50 ภาษา รวมถึงภาษาไทย

นอกจากการให้บริการ Take It Down แล้ว Meta ยังเพิ่มคุณลักษณะความปลอดภัยบนแอปต่างๆ เพื่อปกป้องเยาวชน เช่น คำเตือนด้านความปลอดภัยบน Instagram ที่จะปรากฏเมื่อผู้ใช้ส่งข้อความหาคนที่เคยมีพฤติกรรมหลอกลวง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้มีความระมัดระวัง รายงานผู้ใช้ที่ขู่จะแชร์ภาพ และพึงระลึกว่าทุกคนมีสิทธิปฏิเสธสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ นอกจากนี้ Meta ยังตั้งค่าเริ่มต้นให้บัญชี Instagram ของเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีในไทยเป็นบัญชีส่วนตัวโดยอัตโนมัติ พร้อมจำกัดการส่งข้อความจากผู้ใหญ่ไปยังเยาวชนที่ไม่ได้ติดตามกลับ เพื่อป้องกันการติดต่อที่ไม่พึงประสงค์

การขยายโครงการ Take It Down ในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ Meta ในการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อต่อสู้กับปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญ โดยการให้เครื่องมือและแหล่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการป้องกันและจัดการกับการขู่กรรโชกทางเพศ เพื่อให้เยาวชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งานทุกคน