Tim Cook เผย Android มีโอกาสถูกมัลแวร์โจมตีมากกว่า iOS ถึง 47 เท่า

Tim Cook ซีอีโอของ Apple ให้สัมภาษณ์กับทาง Brut บริษัทสื่อจากสหรัฐอเมริกาโดยมี Guillaume Lacroix ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเป็นผู้สัมภาษณ์ ซึ่งประเด็นหลักๆ อยู่ที่เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้รวมถึงความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการ

ประเด็นแรกที่พูดคุยคือเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ (user privacy) รวมถึงกฏระเบียบด้านการตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act หรือ DMA) ที่ออกโดยทางคณะกรรมาธิการยุโรป โดย Tim Cook กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมาโดยตลอดหลายสิบปี เขามองว่ามันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ผู้ใช้ทุกคนพึงได้

ส่วนเรื่อง DMA นั้น Cook กล่าวถึงมันว่า “ไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้” เนื่องจาก DMA เป็นข้อบังคับที่มีผลกระทบต่อ Apple โดยตรง ตรงที่บังคับให้ Apple เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถลงแอปที่อยู่นอก App Store ได้อย่างอิสระ ซึ่งการโหลดแอปนอกสโตร์ หรือที่เรียกกันว่า sideloading นั้น ทาง Apple เล็งเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์ iOS รวมถึงเป็นการทำลายระบบ App Store ที่วางเอาไว้ ไม่ว่าจะเรื่องการควบคุมและตรวจสอบความปลอดภัยก่อนจะให้ขึ้นสโตร์ และการติดตามข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จากโฆษณาต่างๆ

App Store and Play Store

ไฮไลท์ของการพูดคุยอยู่ตรงที่ Tim Cook นั้นยกงานวิจัยของ Nokia ปี 2019 มาอ้างอิง โดยที่เขาระบุว่า

อุปกรณ์ Android ถูกโจมตีโดยมัลแวร์มากกว่า iOS ถึง 47 เท่า จากการติดตั้งแอปพลิเคชันที่อยู่นอกสโตร์ทางการ

Tim Cook อ้งงอิงข้อมูลจากงานวิจัยของ Nokia ปี 2019

จากข้อมูลงานวิจัยของ Nokia ปี 2019 พบว่าอุปกรณ์ Android ถูกมัลแวร์โจมตีมากถึง 47% ในขณะที่อุปกรณ์ iOS ของฝั่ง Apple นั้นมีตัวเลขการโจมตีเพียง 1% เท่านั้น นอกจากนี้ ข้อมูลงานวิจัยของ Nokia ปี 2020 พบว่าอุปกรณ์ Android ถูกมัลแวร์โจมตีที่ 26.6% ส่วน iOS นั้นถูกโจมตีเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เอง การเปิดให้ผู้ใช้สามารถลงแอปนอกสโตร์ได้อย่างอิสระทำให้ Tim Cook กังวลมากเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

ผู้ใช้สมาร์ทโฟนมักได้รับคำเตือนถึงอันตรายจากการดาวน์โหลดแอปนอกสโตร์ทางการอยู่เสมอ ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าอุปกรณ์ iOS จะปิดตายไม่ให้ลงแอปนอก App Store เพียงแต่ผู้ใช้งานอาจต้องมีทักษะรวมถึงอุปกรณ์ในการทำด้วย อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความยุ่งยากที่ไม่เหมือนกับการติดตั้งแอปจากสโตร์ทางการ และอาจต้องรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเองด้วย เช่น การเจลเบรคระบบ หรือการใช้เครื่องมือ/บัญชีสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น

ที่มา : TECHSPOT