Adobe เสนอข้อมูลเชิงลึก ชี้แบรนด์ชั้นนำใน APAC เน้นลงทุนด้าน “Content Creation และปรับปรุงเวิร์กโฟลว์” เพื่อความสำเร็จ

Adobe เผยข้อมูลเชิงลึกจากรายงานเทรนด์ดิจิทัล ชี้แบรนด์ชั้นนำใน APAC มุ่งลงทุนด้าน “Content Creation และปรับปรุงเวิร์กโฟลว์” เพื่อความสำเร็จในปี 2566

Adobe Digital Trends Report Content Creation

Adobe เผยแพร่รายงานดิจิทัลเทรนด์ (Digital Trends Report) ประจำปี 2566 นำเสนอข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับการตลาดของแบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงภารกิจสำคัญด้านไอทีโดยมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร นักการตลาด พนักงานฝ่ายการตลาด และพนักงานเอเจนซี่กว่า 9,000 คนทั่วโลก (ประกอบด้วยผู้ตอบแบบสอบถามใน APAC 800 คน) และสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและกลยุทธ์ที่ช่วยให้องค์กรที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมก้าวล้ำเหนือคู่แข่ง

Adobe ชี้ว่ารายงานประจำปีนี้เผยให้เห็นว่า แบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนเพิ่มความเร็ว ความสามารถในการสเกล และประสิทธิภาพในการสร้างคอนเทนต์ (Content Creation) รวมถึงขั้นตอนการทำงานหรือเวิร์กโฟลว์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และความสำเร็จของแบรนด์ในปี 2566 ในขณะเดียวกัน แบรนด์เหล่านี้ก็กำลังปรับปรุงกระบวนการทางการตลาดและเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการลงทุน และสำหรับทุกโอกาสในปีนี้

ดันแคน อีแกน รองประธานฝ่ายการตลาดประสบการณ์ดิจิทัล อะโดบี เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า “การนำเสนอประสบการณ์ personalized ผ่านคอนเทนต์ที่น่าสนใจนับเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น เพราะคอนเทนต์ที่ดีจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของแบรนด์กับลูกค้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขณะที่ซัพพลายเชนด้านคอนเทนต์ได้กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงฝ่ายการตลาดของแต่ละแบรนด์ ส่วนแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดก็สามารถตัดสินใจเรื่องการลงทุนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อปรับใช้แนวทางใหม่ด้านการตลาด”

Content Creation at Scale
จากผลสำรวจ 79% ของผู้บริหารระดับสูงใน APAC ชี้ว่าความต้องการด้านคอนเทนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ถึงแม้จะพบว่าลูกค้าต้องการประสบการณ์ดิจิทัลแบบไดนามิกจากช่องทางต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่มีเพียงหนึ่งในสี่ (25%) ของแบรนด์เท่านั้นที่ระบุว่าตนสามารถสร้างและนำเสนอคอนเทนต์ในระดับที่ “ดี” ได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้นำอุตสาหกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับปรุง และเพิ่มความคล่องตัวให้กับทุกขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ซัพพลายเชนด้านคอนเทนต์ทั้งหมด รวมถึงการวางแผนแคมเปญ การสร้างคอนเทนต์ การส่งคอนเทนต์ และการการวิเคราะห์ข้อมูล “ประสิทธิภาพ และการลดค่าใช้จ่าย” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ โดยผู้บริหารระดับสูงใน APAC (43%) กล่าวว่าพวกเขาได้ปรับปรุงกระบวนการด้านคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดการเวิร์กโฟลว์มีความสำคัญสูงสุด
ในอดีตพนักงานต้องใช้เวลางานและอาจต้องเสียเวลาส่วนตัวไปเพื่อเร่งสร้างคอนเทนต์ โดยสองในห้า (41%) ของพนักงานฝ่ายการตลาดใน APAC ระบุว่า การไม่มีเวลาเพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเสนอประสบการณ์ลูกค้าที่ดีเยี่ยมให้ นอกจากนี้:

  • พนักงานฝ่ายการตลาดเพียงหนึ่งในสี่ (25%) ระบุว่าองค์กรของตนอยู่ในระดับที่ ‘ดี’ หรือ ‘ดีมาก’ ในเรื่องของการวางแผน การกำหนดขอบเขต การจัดลำดับความสำคัญ และการกำหนดคอนเทนต์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เทียบกับ 33% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก
  • ที่สำคัญก็คือ 41% ระบุว่าปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเวิร์กโฟล์วเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการดำเนินงานของฝ่ายการตลาด

เพื่อแก้ไขปัญหานี้และเสริมความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายผลิตคอนเทนต์ขององค์กรในปี 2566 แบรนด์ชั้นนำใน APAC จึงให้ความสำคัญกับการจัดการเวิร์กโฟลว์และการทำงานร่วมกันผ่านดิจิทัลของทีมงานด้านคอนเทนต์

  • มากกว่าหนึ่งในสาม (37%) ของผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญสูงสุดกับการจัดการเวิร์กโฟลว์ที่จะช่วยยกระดับการทำงานในปี 2566 นี้
  • และ 43% ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพหรือทำให้กระบวนการทำงานร่วมกันเป็นไปโดยอัตโนมัติเพื่อให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย (38%) ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก

การปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่
การลงทุนในคอนเทนต์และเวิร์กโฟลว์ด้านครีเอทีฟสะท้อนให้เห็นว่าองค์กรที่เป็นผู้นำให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการและเทคโนโลยีเพื่อให้ประสบความสำเร็จในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 นี้ เกือบครึ่ง (45%) ของผู้นำใน APAC วางแผนจะลงทุนกับเทคโนโลยีด้านการตลาดและข้อมูล นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (33%) มีแผนที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีด้านการตลาดและข้อมูลที่มีอยู่

การวางแผนในอนาคตของแบรนด์บางแบรนด์อาจประสบปัญหาเนื่องจากความกังวลด้านเศรษฐกิจ: ผู้บริหารระดับซีเนียร์ของแบรนด์ต่าง ๆ ใน APAC ราว 65% ระบุว่าการมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการระยะสั้นทำให้ต้องสูญเสียโอกาสสำหรับการวางแผนงานและกลยุทธ์ในระยะยาว แต่ยังดีที่การมุ่งเน้นความต้องการที่เร่งด่วนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกองค์กร กล่าวคือ บางองค์กรใน APAC กำลังมองหาแพลตฟอร์มดิจิทัลและช่องทางการติดต่อสื่อสารในรูปแบบใหม่ โดย 41% กล่าวว่าองค์กรของตนกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการตลาดใน Metaverse เป็นต้น

หากต้องการดาวน์โหลดรายงานดิจิทัลเทรนด์ของอะโดบีประจำปี 2566 คลิกที่นี่