intel

Intel Iris Xe MAX การ์ดจอรุ่นใหม่ พร้อมเทคโนโลยี Deep Link

Intel Iris Xe MAX สร้างขึ้นด้วย SuperFin 10 นาโนเมตรของอินเทล ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยี Intel Deep Link เพื่อปลดล็อกงานสร้างสรรค์ทรงประสิทธิภาพบนแล็ปท็อปขนาดบางเบา โดยรวบรวมเอนจินการประมวลผลหลายตัวผ่านเฟรมเวิร์กซอฟต์แวร์และไดร์เวอร์กราฟิกที่ใช้งานร่วมกัน เปิดตัวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563

อินเทลเปิดตัวการ์ดจอ Intel Iris Xe MAX ออกแบบมาสำหรับแล็ปท็อปรูปลักษณ์บางเบา วางจำหน่ายแล้วผ่านช่องทางพันธมิตรของอินเทล โดยการ์ดจอ Intel Iris Xe MAX ใช้สถาปัตยกรรมย่อส่วน Xe-LP แบบเดียวกับหน่วยประมวลผลกราฟิก Intel Iris Xe บนโมบายล์โปรเซสเซอร์ Intel Core เจเนเรชัน 11 และถือเป็นหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) แบบการ์ดจอแยกตัวแรกของอินเทล อันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์บริษัทในการเจาะตลาดการ์ดจอแยก โดยแพลตฟอร์ม Intel Iris XeMAX มาพร้อมเทคโนโลยี Intel Deep Link พร้อมสนับสนุน PCIe Gen 4 เพื่อตอบสนองความต้องการด้านงานสร้างสรรค์ทรงประสิทธิภาพบนแล็ปท็อปขนาดบางเบา

“เรามุ่งมั่นที่จะสร้างนิยามใหม่ของการประมวลผลกราฟิกด้วยการ์ดจอแยกบนแล็ปท็อปขนาดบางเบา เพื่อตอบสนองกลุ่มครีเอเตอร์รุ่นใหม่ที่มองหาความสะดวกในการพกพา หน่วยประมวลกราฟิกแบบแยก IrisXe MAX และเทคโนโลยี Intel Deep Link เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมระดับแพลตฟอร์มที่อินเทลวางแผนจะนำออกสู่ตลาดในอนาคต เพื่อเพิ่มสเกลตามโรดแมปผลิตภัณฑ์ของบริษัท” – โรเจอร์ แชนดเลอร์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไปแผนกผลิตภัณฑ์และโซลูชัน XPU สำหรับเครื่องลูกข่าย ในกลุ่มสถาปัตยกรรม กราฟิก และซอฟต์แวร์ของอินเทล

Intel Iris Xe MAX

เหตุใดจึงสำคัญ: ในระหว่างงาน Intel Architecture Day อินเทลได้ประกาศว่าสถาปัตยกรรมย่อส่วน Xe-LP จะมอบประสิทธิภาพขั้นสูงบนโมบายล์แพลตฟอร์ม โดยหน่วยประมวลผลกราฟิก Intel IrisXe ถือเป็นนิยามใหม่ของประสบการณ์การแสดงผลบนคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ร่วมกันกับโปรเซสเซอร์ Intel Core เจเนเรชัน 11 สำหรับอุปกรณ์พกพา โดยได้มอบการประมวลกราฟิกที่น่าทึ่งพร้อมการประหยัดพลังงาน เพื่อเทคโนโลยีภาพและเสียง การแสดงผล และ AI ชั้นนำ อินเทลยังคงสานต่อความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมโดยผสานโมบายล์โปรเซสเซอร์ Intel Core เจเนเรชัน 11 เข้ากับหน่วยประมวลผลกราฟิก Intel IrisXe และการ์ดจอแยก Intel IrisXe MAX เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงเฟรมเวิร์กซอฟต์แวร์ที่เปิดกว้างและใช้งานได้ร่วมกัน ลดความซับซ้อนในการเผยแพร่ไดรเวอร์และขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องสำหรับผู้ใช้งาน

เทคโนโลยี Deep Link คืออะไร: Deep Link รวบรวมเอนจินการประมวลผลหลายตัวผ่านเฟรมเวิร์กซอฟต์แวร์ที่ใช้งานร่วมกันเพื่อนำเสนอความสามารถใหม่ๆ และประสิทธิภาพที่ดีขึ้นบนเครื่องพีซี ปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ในแล็ปท็อปขนาดบางเบาโดยการเร่งประสิทธิภาพสูงสุดของ CPU เพิ่มประสิทธิภาพงานสร้างสรรค์ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และยกระดับการเข้ารหัสชั้นนำของอุตสาหกรรมไปอีกขั้น

เทคโนโลยี Deep Link ทำงานอย่างไร: Deep Link รวบรวมเอนจินการประมวลผลภายใต้เฟรมเวิร์กซอฟต์แวร์ที่ใช้ร่วมกัน ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเวิร์กโหลดการสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้อย่างมีนัยสำคัญ
แอปพลิเคชันสามารถปรับสเกลเวิร์กโหลดบางประเภททั้งบนหน่วยประมวลผลกราฟิกในตัวและบนการ์ดจอแยก เช่น

  • ความสามารถ Additive AI จะเปิดใช้งานการอนุมานและการเรนเดอร์บน GPU ทั้งสองตัว เพื่อเร่งเวิร์กโหลดการสร้างสรรค์คอนเทนต์
  • การรวมเอนจินการเข้ารหัสชั้นนำของอุตสาหกรรมใน GPU แต่ละตัวผ่านการเข้ารหัสแบบไฮเปอร์ ช่วยเผื่อระยะเวลาในการเรนเดอร์เนื้อหาวิดีโอระหว่างการรีวิวหรือเพื่อส่งต่อ

แอปพลิเคชันแรกที่รองรับ Deep Link จะใช้ชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ Intel Media SDK ชุดเครื่องมือ Intel Distribution of OpenVINO และ Intel VTune Profiler เพื่อเข้าถึงพลังเต็มรูปแบบของแพลตฟอร์ม นักพัฒนาสามารถปรับใช้เทคโนโลยี Deep Link ด้วยชุดเครื่องมือ oneAPI ข้ามสถาปัตยกรรมอันทรงพลังของอินเทล นักพัฒนาที่สนใจเข้าถึงเทคโนโลยี Deep Link สามารถลงทะเบียนที่นี่เพื่อรับการอัปเดตข้อมูลในอนาคต

ช่วงเวลาที่สามารถเป็นเจ้าของได้: วางจำหน่ายตั้งแต่วันนี้ โดยการ์ดจอ Intel IrisXe MAX จะอยู่ใน Acer Swift 3x, Asus VivoBook Flip TP470 และ Dell Inspiron 15 7000 2 in 1 ซึ่งเป็นกลุ่มอุปกรณ์ชุดแรกที่มาพร้อมความสามารถของโมบายล์โปรเซสเซอร์เจเนเรชัน 11 การ์ดจอแยก Intel IrisXe MAX และเทคโนโลยี Intel Deep Link

มีคุณสมบัติอะไรบ้าง: โมบายล์โปรเซสเซอร์ Intel Core เจเนเรชัน 11 ที่จับคู่กับการ์ดจอแยก Intel IrisXe MAX สามารถมอบ Additive AI เพื่อการสร้างสรรค์ด้วย AI ที่เร็วกว่าแล็ปท็อปรุ่นเทียบเคียงที่ใช้การ์ดจอจากผู้ผลิตรายอื่นได้ถึง 7 เท่า และเข้ารหัส Hyper Encode ได้เร็วกว่าการ์ดจอในเดสก์ท็อประดับไฮเอนด์สูงสุดถึง 1.78 เท่า นอกจากนี้ CPU บนแล็ปท็อปขนาดบางเบามักไม่ค่อยได้รับการปรับประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมเมื่อจับคู่กับการ์ดจอแยกของผู้ผลิตรายอื่น แต่คุณสมบัติ Dynamic Power Sharing จะช่วยให้ทรัพยากรด้านพลังงานและการจัดการความร้อนทั้งหมดถูกนำมาใช้ที่ CPU ขณะที่การ์ดจอแยกไม่ได้ถูกใช้งาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของ CPU ดีขึ้นถึง 20% เพื่อให้ผู้ใช้และครีเอเตอร์สามารถดึงพลังออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นการเรนเดอร์ในขั้นตอนสุดท้าย

Intel Iris Xe MAX

การ์ดจอ Intel Iris Xe MAX ยังมอบประสบการณ์เล่นเกมยอดนิยมต่างๆ ที่ความละเอียด 1080p บนแล็ปท็อปขนาดบางเบาได้เป็นอย่างดี และอินเทลจะยกระดับประสบการณ์เกมมิ่งด้วยคุณสมบัติใหม่สองอย่างคือ Game Sharpening และ Instant Game Tuning พร้อมใช้งานผ่าน Intel Graphics Command Center

อินเทลขอนำเสนอโปรโมชันซอฟต์แวร์พ่วงสองชุดเพื่อมอบแอปพลิเคชันและเกมต่างๆ ให้แก่เหล่าครีเอเตอร์ โปรโมชันชุดแรกสำหรับระบบที่ใช้โปรเซสเซอร์ Intel Core เจเนเรชัน 11 สามารถรับข้อเสนอได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. นี้ และโปรโมชันชุดที่สองสำหรับระบบที่ใช้ Intel IrisXe MAX โดยเฉพาะ สามารถรับข้อเสนอผ่าน Amazon.com และช่องทางร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่เข้าร่วม

ขั้นต่อไป: สถาปัตยกรรม Xe เป็นสถาปัตยกรรมกราฟิกที่ปรับสเกลได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะให้บริการแก่ลูกค้าในหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่หน่วยประมวลผลกราฟิกในตัวไปจนถึงการ์ดจอแยกระดับเริ่มต้น การ์ดจอเกมมิ่งระดับไฮเอนด์ และการ์ดจอสำหรับศูนย์ข้อมูลเพื่อใช้งานกับเวิร์กโหลด HPC และ AI นอกเหนือจากตลาดอุปกรณ์พกพาแล้ว อินเทลยังร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อนำการ์ดจอแยก Xe-LP มาใช้บนเดสก์ท็อปราคาประหยัดในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยอินเทลยังคงมองหาวิธียกระดับประสบการณ์ด้านการแสดงผลบนคอมพิวเตอร์แก่ผู้ใช้งานหลายพันล้านคน และยังคงเร่งการพัฒนาโครงการผลิตภัณฑ์และซอฟต์แวร์ในสถาปัตยกรรม Xe อย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดส่ง Intel Server GPU ที่ใช้ Xe-LP ภายในปีนี้ และผลิตภัณฑ์ Xe-HP และ Xe-HPG ในปี 2564