รีวิว Pebble Time ต่อยอดความสำเร็จของ Smartwatch ที่เคยเอาชนะใจคนทั่วโลก

ย้อนไปเมื่อปีก่อนทั่วโลกได้รู้จักกับสุดยอด Smartwatch ที่ทำออกมาได้เหมาะกับการใช้งานจริงในชื่อ Pebble โดยมีจุดเด่นกว่าคู่แข่งหลายอย่างเช่น กันน้ำได้ในขณะที่คู่แข่งหลายรุ่นไม่กันน้ำ และแบตเตอรี่ที่ใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุด 7 วันแต่คู่แข่งใช้ได้เพียง 1-2 วันเท่านั้น และยังรองรับทั้ง Android และ iOS ดังนั้นเมื่อมีการเปิดจอง Pebble Time ที่ถือเป็นรุ่นที่สอง ก็เลยมีผู้คนให้ความสนใจจนยอดสั่งจองทะลุ 20 ล้านเหรียญ เรียกได้ว่าทำสถิติใหม่ของวงการเลยทีเดียว

DSC00002_

แม้ว่าการจัดวางปุ่มบนตัวเรือนของ Pebble Time จะใกล้เคียงกับรุ่นแรกแต่รูปร่างหน้าตาและวัสดุถูกปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมมาก ถ้าเปรียบเทียบให้ชัดเจนก็คือ Pebble รุ่นแรกมีการออกแบบและใช้วัสดุคล้ายของเล่นเด็ก แต่ Pebble Time มีวัสดุและงานประกอบที่ดีกว่าเดิมมาก

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัดคือหน้าจอแบบ E-Paper แสดงผลสีสันได้แล้ว ซึ่งการเลือกใช้หน้าจอแบบ E-Paper นับเป็นจุดแข็งตั้งแต่รุ่นแรกเพราะเป็น Smartwatch ที่หน้าจอแสดงผลตลอดเวลาและใช้ได้สูงสุด 7 วันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นจะแสดงผลเฉพาะตอนที่กดดูเท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ Smartphone ที่หน้าจอจะดับเมื่อไม่ใช้งาน แม้ว่าบางรุ่นสามารถตั้งค่าให้แสดงผลได้ตลอดเวลา แต่ผลที่ตามมาก็คือแบตเตอรี่หมดเร็วมากและอาจใช้งานได้ไม่ถึง 1 วัน

หรือถ้าคิดว่าการใช้งานต่อเนื่อง 7 วันกับ Pebble Time ยังน้อยเกินไปก็สามารถเลือกซื้อรุ่น Pebble Time Steel ที่ใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุด 10 วัน

DSC00005

อีกส่วนที่ทำให้หลายคนรู้สึกแย่แต่พยักหน้ายอมรับก็คือ ตำแหน่งของการเสียบชาร์จถูกย้ายจากด้านข้างไปอยู่ด้านล่างแทน ทำให้ไม่สามารถสวมข้อมือระหว่างชาร์จได้เหมือนรุ่นแรก แต่เหตุผลที่ย้ายไปไว้ด้านล่างก็ทำให้ยอมรับได้ เพราะขั้วต่อสามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าการชาร์จ คือเปิดโอกาสให้นักพัฒนาทำอุปกรณ์เสริมได้

DSC00004

ปุ่มควบคุมถูกปรับเปลี่ยนหน้าที่เล็กน้อย โดยอิงแนวคิดของ Timeline คือปุ่มขึ้น ทำหน้าที่อีกอย่างคือย้อนไปดูข้อมูลในอดีตเช่น สายเรียกเข้า สภาพอากาศ การออกกำลังกาย ส่วนปุ่มลงก็ดูเรื่องของอนาคตเช่น ตารางนัดหมาย ซึ่งต่างจากรุ่นแรกที่กดเพื่อเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกาแต่ละแบบ

เมื่อกดปุ่มกลางก็จะพบรายชื่อแอปที่ติดตั้งไว้ ซึ่ง Pebble Time ไม่ได้ถูกจำกัดจำนวนแอปไว้ที่ 8 แอปแบบรุ่นแรก ทำให้มีอิสระในการใช้งานมากกว่า และยังจัดเรียงลำดับของแอปได้ด้วย

ส่วนการตั้งค่าที่น่าสนใจก็อย่างเช่น การตั้งชื่อ Pebble Time สำหรับใช้เชื่อมต่อบลูทูธกับมือถือ ซึ่งจุดแข็งอีกอย่างของ Pebble คือรองรับทั้ง Android และ iOS

DSC00012_

ส่วนต่อมาก็คือเรื่องของการแจ้งเตือนที่อาจจะขัดใจใครหลายคน เพราะมันถูกลดความสามารถจากรุ่นแรกเหลือเพียงการแจ้งเตือนปรกติและ Do Not Disturb แบบที่ต้องกำหนดช่วงเวลา ซึ่งไม่มีโหมดแจ้งเตือนเฉพาะสายเรียกเข้า …แต่ก็มีข่าวว่า software ยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอการอัพเดทแก้ไข ซึ่งไม่รู้ว่าจะแก้ไขส่วนนี้ด้วยรึเปล่า

ความสะดวกอีกอย่างคือเราสามารถตั้ง Quick Launch สำหรับเป็นทางลัดเข้าแอปได้ด้วย โดยเลือกได้ว่ากดปุ่มขึ้นหรือปุ่มลงค้างแล้วจะให้เปิดแอปอะไร

DSC00010_

นอกจากนี้ Pebble Time ยังรองรับ Activity Tracking โดยใช้ร่วมกับแอปชื่อดังอย่างเช่น Misfit, Runkeeper, Jawbone แต่จากที่ได้ลองใช้งานพบว่าการตรวจจับไม่แม่นยำเท่าไร ซึ่งไม่เหมาะกับคนที่ต้องการใช้งานอย่างจริงจัง แต่สามารถเอามาประยุกต์ใช้เพื่อความสนุกได้อย่างเช่นแอป  FitCat ที่จะจำลองแมวขึ้นมา โดยที่แมวจะทำกิจกรรมตามเรา เช่น เดิน หรือ นอนอยู่กับที่ และสามารถเอาซื้อของให้แมวได้ด้วย

ส่วนแอปอื่นที่น่าสนใจก็มีอยู่หลายตัว เช่น WunderPebble ที่ใช้งานร่วมกับ WunderList หรือพวกแอปสำหรับควบคุมกล้องและเพลง เรียกได้ว่ามันทำงานได้หลายหลากขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ หรือถ้าคิดจะเล่นเกมก็มีให้เลือกเช่นกัน

Unknown

สำหรับหน้าที่หลักของ Pebble Time ก็คือการแจ้งเตือน แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนก็คือการตอบกลับด้วยเสียงในแบบ Dictation ซึ่งหมายถึงการแปลงเสียงพูดเป็นตัวอักษร …และแน่นอนว่ามันไม่รองรับภาษาไทย

แต่ทางเลือกในการตอบกลับไม่ได้มีแค่เสียงเท่านั้น ยังมีหน้าตาแสดงอารมณ์อย่าง emoji และข้อความที่เราตั้งไว้ 5 ข้อความ ส่วนวิธีการแจ้งเตือนของ Pebble Time คือการสั่นเท่านั้นเพราะมันไม่มีลำโพง

ในภาพรวมแล้ว Pebble Time มีความเป็นนาฬิกาสูงกว่า Smartwatch รุ่นอื่นๆ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องโดยที่หน้าจอแสดงผลตลอดเวลาและสู้แสงได้ดีมาก หรือถ้าจะดูในที่แสงน้อยก็ไม่มีปัญหาเพราะเพียงแค่สะบัดข้อมืก็มีแสงไฟบนหน้าจอ และการกันน้ำลึก 30 เมตรก็ยิ่งทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีก เมื่อเทียบคุณสมบัติทั้งหมดกับค่าตัวราว 200 เหรียญหรือประมาณ 6,800 บาท ก็ถือว่าคุ้มมาก