คดี Apple กับ Epic Games ตัดสินแล้ว ศาลฯ สั่ง Apple อนุญาตให้นักพัฒนาเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินอื่นนอกเหนือจาก in-app purchase ได้

หลังจากมีกรณีพิพาทและเป็นเรื่องฟ้องร้องกันมาพักใหญ่ๆ สำหรับ Apple และ Epic Games หลังจากที่เกม Fortnite ถูกถอดจาก App Store หลังจากทาง Epic Games มีการเพิ่มช่องทางชำระเงินนอก App Store เพื่อเลี่ยงการเสียส่วนแบ่งการชำระเงินแบบ in-app purchase ใน App Store 30% ทำให้ Epic Games ยื่นฟ้องต่อศาลในข้อหา Apple ผูกขาดการค้าโดยบังคับให้บริษัทอื่นๆ ใช้ช่องทางชำระเงินของตัวเองเท่านั้น

Apple Epic Games permanent injunction
คำสั่งศาลถาวร กรณีของ Apple และ Epic Games

ล่าสุด ผู้พิพากษา Yvonne Gonzalez Rogers จากศาลแคลิฟอร์เนียได้มีคำสั่งถาวรห้ามไม่ให้ Apple สามารถสั่งห้าม/ปิดกั้นนักพัฒนาแอปต่างๆ ทำลิงก์ แสดงปุ่ม หรือข้อความเพื่อนำผู้ใช้ไปสู่ระบบจ่ายเงินอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจ่ายเงินแบบ in-app purchase โดยทาง Apple จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลเป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง (มีผลบังคับใช้ไปจนถึง 9 ธันวาคม 2021)

ทั้งนี้ Apple จะต้องดำเนินการกับทุกๆ แอปให้เหมือนๆ กัน ไม่ใช่ทำตามแค่เพียงแอปประเภท Reader เช่น Netflix , Sportify และ Amazon Kindle เป็นต้น ที่เคยมีประกาศไปแล้วเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า Apple อนุญาตให้ใส่ลิงก์สมัครสมาชิกนอกแอปได้ มีผลบังคับใช้เริ่มปี 2022

นอกจากนี้ ศาลมีคำสั่งให้ทาง EpicGames ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับ Apple ด้วยในความผิดฐานโทษฐานที่ EpicGames นั้นฝ่าฝืนสัญญาของ Apple โดยการใส่ช่องทางการจ่ายเงินอื่นในเกม Fortnite เป็นจำนวนเงิน 30% จากยอดกำไร 12.167 ล้านดอลลาร์ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคม 2020 ถึง ตุลาคม 2020 รวมถึงเงิน 30% จากกำไรทั้งหมดที่ทาง Epic Games ทำได้ภายหลังวันที่ 1 พฤศจิกายน 2020 รวมดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งศาลนั้นไม่ได้มีคำสั่งบังคับให้ Apple นำบัญชีนักพัฒนาของ EpicGames กลับเข้า App Store เนื่องจากการถอด EpicGames ออกจาก App Store เป็นการกระทำที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนประเด็นเรื่องการผูกขาดการค้านั้น ผู้พิพากษา Yvonne Gonzalez Rogers ระบุว่าการทำธุรกรรมเกมสำหรับอุปกรณ์มือถือของ Apple นั้นยังไม่มีสถานะผูกขาด ถึงแม้ในความเป็นจริง Apple จะมีส่วนแบ่งตลาดที่สูงกว่า 55% รวมถึงมีอัตรากำไรที่สูงมาก แต่ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นยังไม่ได้แสดงถึงพฤติกรรมการผูกขาดทางการค้า พร้อมยืนยันว่าความสำเร็จของ Apple นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฏหมาย

ที่มา : The Verge | TechCrunch | MacRumors