Homed โครงการสร้างบ้านพักเพื่อคนเร่ร่อนในนิวยอร์ก ออกแบบเหมือนรังผึ้ง

ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในมหานครนิวยอร์กนั้นนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น  ทั้งจากจำนวนคนที่ย้ายเข้ามาหางานทำในนิวยอร์ก  และค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้มหานครนิวยอร์กประสบปัญหาคนไร้บ้านหรือที่เรียกว่าโฮมเลสมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อมูลจาก Coalition of the Homeless ของนิวยอร์กระบุว่าในแต่ละคืนมีคนไร้บ้านมาอาศัยนอนตามศูนย์พักพิงต่างๆ มากถึง 62,000 คน  ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมคนไร้บ้านที่อาศัยนอนตามข้างถนนด้วย

Framlab บริษัทด้านครีเอทีฟเอเจนซี  จึงได้เสนอไอเดียโครงการ “Homed” ที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน  โดยเจ้า Homed นี้จะมีลักษณะเป็นกล่องทรงหกเหลี่ยมแบบรังผึ้งที่สร้างขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ  และสามารถนำเอาไปติดตั้งกับเฟรมเหล็กข้างตึกที่มีอยู่แล้วได้ในทันที

ทาง Framlab ระบุว่าจำนวนบุคคลไร้บ้านในนิวยอร์กนั้นสูงขึ้นเป็นประวัติกาลนับตั้งแต่เหตุการณ์ The Great Depression ในช่วงปี 1930 ซึ่งโครงการ Homed นี้จะเป็นการรีไซเคิลพื้นที่แนวตั้งอย่างกำแพงตึกที่ปกติไม่มีใครได้ใช้ประโยชน์อยู่แล้วให้กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านเหล่านี้แทน

ตัวกล่อง Homed นั้นถูกออกแบบมาให้ทนต่อสภาพอากาศในนิวยอร์กได้ตลอดปี  ทั้งช่วงอากาศร้อนและช่วงอากาศหนาว  โดยเปลือกนอกจะเป็น Oxidized Aluminum Cladding ส่วนด้านในรวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จะเป็น 3D Print ด้วยวัสดุ Bioplastic ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย  และในส่วนของกระจกด้านหน้ากล่อง Homed นั้นจะเป็นกระจก PMMA Smart Glass ที่สามารถใช้ฉายเนื้อหาดิจิตอลต่างๆ ได้  ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตเวิร์ก  หรือแม้แต่โฆษณา

และด้วยที่กล่อง Homed นั้นสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ  ทำให้ภายในสามารถปรับแต่งได้ตามที่ผู้นำไปติดตั้งต้องการ  ตั้งแต่ห้องพร้อมเตียงธรรมดา  ห้องพร้อมโต๊ะ  ห้องนั่งเล่นรวม  หรือห้องน้ำรวม (ที่จะเดินท่อไปกับโครงเหล็ก)

โดยปกติแล้วศูนย์พักพิงของคนไร้บ้านนั้นจะมีลักษณะเป็นห้องรวม  ซึ่งโครงการ Homed นี้จะช่วยให้คนไร้บ้านสามารถมีที่พักอาศัยชั่วคราวได้ในขณะที่ยังคงรักษาความส่วนเอาไว้ได้อยู่

ในปัจจุบันทาง Department of Homeless Services ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคนไร้บ้าน  ต้องใช้งบประมาณกว่า 955 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อดูแลศูนย์พักพิง  ซึ่งทาง Framlab ระบุว่าดครงการ Homed นี้จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ในระยะยาว

อ้างอิง – Mashable