ตู้โทรศัพท์สาธารณะยังคงสร้างรายได้กว่า 500 ล้านบาทในแคนาดา

ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะมองไปทางไหน  เราก็มักจะเห็นผู้คนอยู่กับสมาร์ทโฟนในมือได้ตลอดเวลา  เราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ผ่านสมาร์ทโฟนเครื่องเล็กๆ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีเดิมอย่างโทรศัพท์บ้านและตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ทำได้เพียงแค่การโทรศัพท์ ก็ค่อยๆ หมดหน้าที่ลงไป

ในขณะที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะในบ้านเรานั้นแทบจะไม่มีใครใช้งานกันแล้ว  บ้างก็ถูกเปลี่ยนเป็นตู้เติมเงิน  บ้างก็กลายเป็นที่พักสินค้าของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าตามริมทางเท้า  แต่ในแคนาดาและสหรัฐอเมริกานั้นบริการตู้โทรศัพท์สาธารณะยังคงมีคนใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก

รายงานของสำนักงานคณะกรรมการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมแคนาดา  ระบุว่าในปี 2016 ตู้โทรศัพท์สาธารณะในแคนาดาราว 60,000 ตู้ สามารถทำรายได้ได้ถึง 22 ล้านดอลลาร์แคนาดา  หรือประมาณ 500 ล้านบาท  เฉลี่ยแล้วตกที่ประมาณตู้ละ 300 ดอลลาร์แคนาดา  และหากดูที่ค่าโทรครั้งละ 50 เซนต์แล้ว  พบว่าเฉลี่ยทุกตู้จะมีการใช้โทรวันละสองสามครั้งเลยทีเดียว

หากย้อนไปในปี 2013 นั้นทางเครือข่าย Bell ในแคนาดาเคยพยายามขอขึ้นราคาค่าบริการโทรศัพท์สาธารณะมาเป็นครั้งละ 1 ดอลลาร์แคนาดามาแล้ว  แต่ทางการแคนาดาไม่อนุญาต  และให้เหตุผลว่าบริการเครือข่ายไร้สาย (โทรศัพท์มือถือ) ยังไม่ใช้สิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้

สำหรับทางฝั่งสหรัฐอเมริกานั้น ทางคณะกรรมาธิการการค้า หรือ FTC ของสหรัฐอเมริกา  ได้ออกรายงานเมื่อปี 2015 ว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะในสหรัฐอเมริกานั้นสามารถทำรายได้ในปี 2015 ได้ถึง 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือราว 9,400 ล้านบาท  ซึ่งเป็นตัวเลขที่สัมพันธ์กับของแค่นาดาเมื่อเทียบตามสัดส่วนประชากร

อ้างอิง – Motherboard

ความเห็นของเรา

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการดัดแปลงตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อเอาไปใช้ทำหน้าอื่น  เนื่องจากปริมาณการใช้งานนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง  อย่างเช่นการเอาไปทำเป็นตู้ปล่อย WiFi หรืออย่างในบ้านเราก็จะเป็นตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือแทน

ในอนาคตนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งตู้โทรศัพท์สาธารณะก็น่าจะถูกแทนที่โดยโทรศัพท์มือถือที่มีราคาต่ำลงทุกวันๆ ได้โดยสมบูรณ์  แต่ในช่วงนี้เราอาจยังได้เห็นการใช้งานโทรศัพท์สาธารณะอยู่ในมุมต่างๆ ของโลก  โดยเฉพาะในประเทศขนาดใหญ่ที่การขยายเครือข่ายไร้สายให้ครอบคลุมทั้งประเทศนั้นยังลำบากและไม่คุ้มทุนเท่าไหร่นัก

ประเทศแคนาดานั้นมีพื้นที่กว้างกว่าประเทศไทยถึงประมาณ 20 เท่า  แต่มีประชากรแค่ราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเท่านั้น  ดังนั้นการขยายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือให้ครอบคลุมให้สัญญาณเต็มทั้งประเทศจึงมีค่าใช้จ่ายสูงมากและอาจไม่คุ้มทุน (หากใครที่เคยไปอเมริกาหรือแคนาดา  จะพบว่าบางพื้นที่ก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เลย) ทำให้บริเวณที่สัญญาณไม่ดีหรือเข้าไม่ถึง  การใช้งานตู้สาธารณะหรือบริการโทรศัพท์พื้นที่ฐานยังคงเป็นทางเลือกที่พึ่งพาได้อยู่ในตอนนี้

วิดีโอไม่เกี่ยวกับข่าว  แค่นึกถึงเฉยๆ