รีวิว ASUS ZenFone 2 แรม 4 GB ราคาเฉียดหมื่น

เมื่อปีก่อนเรียกได้ว่าตลาดมือถือราคาต่ำกว่าหมื่นถูก ASUS ZenFone กวาดไปแทบทั้งหมด ทำเอาแบรนด์ดังทั้งหลายปวดหัวกับสเป็กและราคาที่ ASUS ทำออกมา และความแสบของปีก่อนทำให้หลายค่ายต้องรีบตักตวงก่อนที่ ZenFone 2 จะถูกวางขายเพราะกลัวจะซ้ำรอยเดิมคือถูก ASUS ยึดตลาด แต่ที่น่าจับตามองก็คือราคาที่ ASUS วางไว้สูงกว่าปีก่อน แม้ว่าสเป็กจะสูงกว่าคู่แข่ง แต่ราคาที่ขยับขึ้นมาวนเวียนแถวหมื่นทำให้มีตัวเลือกที่มากขึ้นตามไปด้วย

สเป็ก ASUS ZenFone 2

  • ซีพียู Intel Atom Z3850 ( 2.3 GHz, 64 bit )
  • แรม 4 GB
  • หน่วยความจำภายใน 64 GB รองรับ microSD
  • หน้าจอ 5.5 นิ้ว IPS ความละเอียด Full HD
  • กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชคู่
  • กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิมและ 4G
  • รองรับระบบ Fast Charge

ZenFone 2 มีแยกย่อยอยู่ 4 รุ่นที่ต่างกันในส่วนของซีพียู แรม หน่วยความจำภายใน กล้อง ความละเอียดหน้าจอ รวมถึงระบบชาร์จเร็ว และครั้งนี้เลือกหยิบรุ่นแรม 4 GB มาทดสอบเพราะมันเป็นความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสมือถือแรม 4 GB ในราคาราวหมื่น ทั้งที่มือถือเรือธงราคาเฉียดสามหมื่นยังมีแรมน้อยกว่านี้

ซึ่งรุ่นแรม 4 GB มีหน่วยความจำภายใน 2 ขนาดคือ 32 GB ราคา 9,999 บาท และ 64 GB ราคา 11,990 บาท

DSC000351

ฝาหลังมีลวดลายเป็นเส้นและโค้งรับอุ้งมือ ทำให้การถือค่อนข้างกระชับแม้ตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่ ส่วนปุ่มปรับเสียงถูกย้ายไปไว้ที่ฝาหลังคล้ายกับ LG แต่ปัญหาหลักคือปุ่มเปิด-ปิดที่วางไว้ด้านบน ซึ่งกดค่อนข้างยากแต่โชคดีที่รุ่นนี้รองรับการเคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดและปิดด้วย

DSC00038_

ปุ่ม navigator ด้านล่างเรียงลำดับตามมาตรฐานกูเกิ้ลคือ back, home, recent apps แต่ที่น่าเสียดายคือปุ่มทั้ง 3 ไม่มีไฟส่องสว่าง

DSC00041_

การที่เกิดมาพร้อมกับ Android 5.0 ทำให้หน้าตาและระบบบางอย่างเปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดก็คือแถบแจ้งเตือนด้านบนที่แบ่งการลากเป็น 2 จังหวะโดยลากครั้งแรกเข้าการแจ้งเตือน และลากซ้ำอีกครั้งเพื่อเข้าสู่การตั้งค่า

และจุดที่เป็นประเด็นที่สุดของ Android 5.0 ก็คือระบบเสียงที่เปลี่ยนไป เหลือแค่โหมดเสียงและโหมดสั่น ส่วนโหมดเงียบถูกตัดทิ้ง แต่เพิ่มโหมด interrupts เข้ามาแทนซึ่งเทียบเท่าระบบ Do not Disturb ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าการปิดเสียงทำไมมันวุ่นวายแบบนี้ ทำให้ผู้ผลิตบางรายรวมถึง ASUS เลือกใช้วิธีดัดแปลงระบบเสียง โดยซ่อนความวุ่นวายไว้ใต้ UI ให้ออกมาเป็นรูปแบบที่คุ้นเคยที่สุดคือ

  • โหมดเสียง
  • โหมดสั่น
  • โหมดเงียบ

ซึ่งโหมดเงียบของ ZenFone 2 ที่จริงก็คือโหมด interrupts ของ Android 5.0 นั่นเอง

DSC00049_

ASUS ได้ใส่ลูกเล่นหลายอย่างเพิ่มเข้ามาในรอม เช่น ZenMotion ซึ่งเป็นการควบคุมด้วยท่าทาง เช่น เคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดและปิดจอ หรือวาดตัว C ระหว่างปิดหน้าจอเพื่อเรียกใช้งานกล้อง หรือ One Hand Mode ที่เรียกใช้งานโดยกดปุ่ม home 2 ครั้ง

ASUS Cover หรือการใช้ร่วมกับเคสที่มีฝาปิดก็สามารถตั้งค่าเพิ่มเติมได้ว่าจะให้แสดงอะไรบ้าง เช่น กล้อง ไฟฉาย ปฎิทิน

ASUS customized setting ที่น่าสนใจคือการตั้งค่าการกดค้างของปุ่ม recent apps ว่าจะให้เข้าเมนู หรือจับภาพหน้าจอ หรือไม่ทำอะไร และการจับภาพหน้าจอก็สามารถเลือกนามสกุลได้ทั้ง png และ jpeg นอกจากนี้ยังเลือกตำแหน่งการติดตั้งแอปได้อีกด้วย

แต่ความจริงแล้วหน่วยความจำภายในก็มีเพียงพอสำหรับติดตั้งแอป ดังนั้นควรเลือกตำแหน่งการติดตั้งให้อยู่ในภายตัวเครื่องเพื่อลดปัญหาที่จะตามมา

DSC00050_

และเนื่องจากการใช้ Android 5.0 ทำให้รุ่นนี้รองรับการใช้งานหลายคน หรือ multi-user รวมถึง guest mode และ SnapView ทำให้สามารถสร้าง profile หรือติดตั้งแอปแยกจากกันได้ แต่ที่จริงแล้วระบบ multi-user ของ Android 5.0 ไม่ได้แยกแต่ละ user ออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะมีบางส่วนที่ใช้งานร่วมกันเช่น การอัพเดทแอป หรือการตั้งค่า WiFi

DSC00043_

อีกส่วนที่น่าสนใจคือ Screen pinning ที่อยู่ใน recent apps มีไว้สำหรับล็อกหน้าจอป้องกันการสลับไปยังแอปอื่น เหมาะสำหรับการทำ presentation หรือการ demo

ส่วน App Drawer มีระบบ Smart group ไว้ช่วยจัดเรียงแอปและโฟลเดอร์ นอกจากนี้ยังสามารถเลือก Grid size ได้ตั้งแต่ 3×3 ไปจนถึง 5×5 และในส่วนของ Launcher ก็มีระบบธีมให้เลือกใช้งานได้หลากหลายกว่าเดิม

DSC00047_

การใช้งาน 2 ซิมมีข้อจำกัดเล็กๆ คือซิมที่ใช้งานเน็ตจะต้องใส่ในช่องที่ 1 เท่านั้น ส่วน UI การโทรใช้วิธีควบรวมประวัติการโทรเข้าและ dial pad สำหรับการโทรออก ทำให้การโทรหรือย้อนดูประวัติสะดวกขึ้น และยังมีปุ่มโทรออกชัดเจนว่าต้องการโทรออกจากซิมที่ 1 หรือ 2 นอกจากนี้ยังบันทึกเสียงการโทรและตั้งบันทึกอัตโนมัติให้บันทึกเสียงทุกครั้งได้ด้วย

DSC00051_

ด้านประสิทธิภาพได้คะแนน Antutu ไป 46,727 คะแนน ซึ่งถ้าอิงตามตารางก็ถือว่าทำได้ดีเกินตัวเพราะคะแนนเกือบเท่า Galaxy Note 4 ส่วนการใช้จริงก็ค่อนข้างเสถียรและลื่นมาก และการมีแรมสูงถึง 4 GB ก็ส่งผลให้เปิดแอปค้างไว้ได้เยอะขึ้นโดยไม่ถูกตัวเครื่องบังคับปิดเพราะแรมเต็ม ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเมื่อใช้แอปที่ใช้ทรัพยากรสูงเช่น การสลับไปมาระหว่างเกมใหญ่ๆ และแอป

และที่น่าสนใจก็คือรุ่นนี้รองรับระบบ Fast Charge ซึ่งในกล่องก็แถมหัวแปลงแบบ Fast Charge มาด้วย วิธีสังเกตก็คือเวลาชาร์จจะมีเครื่องหมายบวกแสดงบนรูปแบตเตอรี่ นอกจากนี้ได้ทดสอบเอาหัวแปลงแบบ Quick Charge 2.0 ของ Qualcomm มาเสียบก็สามารถชาร์จเร็วได้เช่นกัน

DSC00057_1

เรื่องของเสียงก็อยู่ในเกณฑ์ทั่วไป ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ที่เด่นมากก็คือกล้องซึ่งนับเป็นจุดเด่นของ ASUS เลยก็ว่าได้สำหรับโหมด Low Light ที่เก่งมาก สามารถเอาชนะเรือธงค่ายอื่นได้สบาย และถ้าอิงตามเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นปัจจุบัน Manual mode  สามารถปรับแต่งได้เยอะกว่าเรือธงอย่าง Galaxy S6 ด้วยซ้ำ โดยปรับแต่งค่าได้ดังนี้

  • Manual focus
  • Shutter speed 1/2 ถึง 1/500
  • ISO 50 ถึง 800
  • EV -2 ถึง +2
  • White balance 2500K ถึง 6500K

ZenFone2_collage_

ในที่แสงน้อยกับโหมด Low Light สามารถดึงแสงสีและรายละเอียดได้ดีกว่าเรือธงอย่าง Galaxy S6 และ OPPO N3 แต่โหมดนี้มีข้อจำกัดคือความละเอียดจะถูกลดลงมาเหลือเพียง 3 ล้านพิกเซล และใช้เวลาถ่ายประมาณ 2 วินาที

แม้ว่าในช่วง 2 วินาทีควรจะตั้งกล้องให้นิ่งที่สุด แต่จากการใช้จริงพบว่าการสั่นในแบบไร้ขาตั้งกล้อง ใช้เพียงมือเปล่าก็ยังได้ผลลัพธ์ที่ดี

IMG20150521113308-down_

และถ้าเทียบจากสถานการณ์ที่มีแสงมากขึ้นกว่าเดิมก็ยิ่งเห็นความต่างได้ชัดว่า ZenFone 2 ทำได้ดีกว่าแบบขาดรอย

DSC00056

นอกจากโหมด Manual และ Low Light ก็ยังมีโหมดอื่นที่น่าสนใจเช่น Time Rewind ที่สามารถเลือกย้อนเวลาไปก่อนกดถ่าย 3 วินาทีและหลังถ่าย 1 วินาที หรือ Super Resolution ที่ทำหน้าที่คล้ายกับ UltraHD ของ OPPO คือนำภาพมาประมวลผลสร้างไฟล์ความละเอียดสูงประมาณ 37 ล้านพิกเซล และหลังจากกดถ่ายก็สามารถเก็บเครื่องได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ประมวลผลเสร็จเช่นเดียวกับ OPPO

อีกโหมดที่น่าสนใจคือ Smart Remove ไว้สำหรับลบวัตถุที่ไม่ต้องการออกจากภาพถ่าย เหมาะสำหรับการไปถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวและมีคนเดินผ่านไปมา บดบังทัศนียภาพ และยังมีโหมด Time Lapse อีกด้วย

ส่วนกล้องหน้าก็มีโหมดหน้าสวย แต่งหน้า ทาปาก ศัลยกรรมผ่านจอได้เช่นกันกับค่ายอื่น และผลลัพธ์ก็ถือว่าน่าพอใจ

ในที่กลางแจ้งหรือยามค่ำคืนไม่ใช่ปัญหาสำหรับ ZenFone 2 แต่กลับมาตกม้าตายง่ายๆ เพราะความเอาแน่เอานอนไม่ได้ในเรื่องของแสง เนื่องจากบางครั้งก็วัดแสงออกมาค่อนข้างมืด

P_20150525_181756-tile

แต่ปัญหาเรื่องการวัดแสงก็ไม่ได้ทำให้รายละเอียดแย่ลงมากนัก เพราะเมื่อนำภาพมาปรับแสงหรือถ่ายด้วยโหมด HDR ก็จะเห็นรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วน

ส่วนการถ่ายคลิปในที่แสงน้อยที่เคยเป็นปัญหาของ ZenFone ตัวเก่าในแบบที่ภาพกระตุกเหมือน frame rate ตก ก็ยังไม่เจอปัญหานี้บน ZenFone 2

ความเห็นจากทีมข่าวล้ำหน้า

ในภาพรวมแล้ว ASUS ZenFone 2 เป็นรุ่นสุดคุ้มและใช้งานจริงได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสเป็กที่คุ้มเกินราคา และยังมาพร้อมระบบ Fast Charge รวมถึงกล้องที่ทำงานได้น่าประทับใจ

แต่ปัญหาที่หลายคนกังวลคือเรื่องของศูนย์บริการที่ไม่ประทับใจนัก จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้มือถือ ASUS ก็ยังไม่เคยเจอเครื่องไหนที่มีปัญหาจนต้องเข้าศูนย์ซ่อมเลยสักครั้ง ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องใช้วิจารณ์ญาณส่วนบุคคลว่าเรื่องศูนย์ซ่อมมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนกับการเลือกซื้อ

อดีตโปรแกรมเมอร์ที่ออกมาเรียนรู้โลกกว้าง อยากช่วยเหลือผู้คน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บอกเล่าในสิ่งที่ตัวเองรู้ และอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมน่าอยู่