รีวิว OPPO N3 เรือธง 2 ซิม กล้องหมุนได้ ใช้เลนส์ Schneider

อย่างที่รู้กันว่า OPPO เป็นค่ายที่ชูจุดเด่นเรื่องกล้องมาตลอด โดยเฉพาะ N series ที่มีกล้องหมุนได้ แต่ที่สาวกกรี๊ดกร๊าดกันก็คือ OPPO N3 มีกล้องที่หมุนได้เองโดยไม่ต้องใช้มือหมุนแบบ N1

สเป็ก OPPO N3

  • ซีพียู Snapdragon 801
  • แรม 2 GB
  • หน่วยความจำภายใน 32 GB รองรับ microSD
  • หน้าจอ 5.5 นิ้ว แบบ IPS ความละเอียด Full HD
  • กล้องความละเอียด 16 ล้าน หมุนได้ 206 องศา เลนส์ Schneider
  • แบตเตอรี่ 3000 mAh
  • น้ำหนัก 192 กรัม
  • รองรับการทำงาน 2 ซิมและ 4G LTE
  • ราคา 19,900 บาท

ประเด็นแรกที่หลายคนยึดติดก็คือ “ตัวเลข” เพราะคิดว่าควรจะมีซีพียูที่ใหม่กว่านี้ แต่สิ่งที่ผมย้ำตลอดเวลาก็คือ ให้ดู “การใช้จริง” เพราะสเป็กสูงก็อาจช้าได้ ขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งของแต่ละค่าย และถ้าเทียบการใช้จริงไม่อิงสเป็กก็ถือว่า OPPO N3 ลื่นไหลมากครับ

รูปร่างตัวเครื่อง

DSC00001_Fotor[1]

ขนาดของตัวเครื่อง 5.5 นิ้วก็เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้งานด้วยมือเดียว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเป็นไปตามกระแสนิยมที่คนมักชอบจอใหญ่ ส่วนการจัดวางปุ่มและช่องเสียบต่างๆ อยู่ด้านข้างทั้งหมดยกเว้นปุ่ม O-Touch ที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งการจัดวางปุ่มไว้ด้านข้างช่วยให้ใช้งานด้วยมือเดียวได้ง่าย แต่จะมีปัญหาถ้าต้องการตั้งเครื่องกับพื้นในแนวนอนสำหรับถ่ายรูป ก็จะไปโดนปุ่มเปิด-ปิดซึ่งอยู่ด้านซ้าย

page-buttom[1]

ลำโพงถูกซ่อนอยู่ด้านล่างตัวเครื่อง และจุดเด่นอีกอย่างที่หลายคนชอบก็คือไฟแจ้งเตือนที่วางเป็นตัวโค้งด้านล่างเครื่อง ซึ่งส่วนนี้ออปโป้ตั้งชื่อให้มันว่า “Skyline Notification”

หน้าจอ

DSC00011_Fotor[1]

ในช่วงเปิดตัวมีการระบุในสเป็กว่าเป็นหน้าจอแบบ TFT ทำให้หลายคนกังวลว่าจะมีสีที่ซีด และภายหลังข้อมูลสเป็กในหน้าเว็บก็ระบุว่าเป็นหน้าจอแบบ IPS บนความละเอียดแบบ Full HD ซึ่งใช้จริงพบว่ามีสีสันที่สดแต่ไม่จัดจ้านเกินไป ดูแล้วสบายตาครับ

ระบบเสียง

DSC00015_Fotor[1]

มีระบบ Maxx Audio ที่ช่วยปรุงแต่งให้เสียงดีขึ้น และแม้ว่าลำโพงไม่ได้อยู่ด้านหน้าแบบบางรุ่น แต่การวางลำโพงไว้ด้านล่างก็มีทิศทางที่ดีกว่าลำโพงด้านหลังแบบที่มือถือส่วนใหญ่นิยมทำ ซึ่งเสียงที่ได้อยู่ในเกณฑ์ดี เสียงค่อนข้างใสแต่ไม่แหลมบาดหู เมื่อเปิดเพลงและเร่งเสียงดังสุดก็ยังไม่แตกมากนัก

ปุ่มและการควบคุม

DSC00006_Fotor[1]

สามปุ่มล่างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวอร์ชั่นของระบบปฏิบัติการ ซึ่ง OPPO N3 มาพร้อมกับ ColorOS 2.0 และใช้วิธีกดปุ่ม menu ค้างเพื่อเรียกแอปล่าสุด ส่วนการกดปุ่ม home ค้างจะเป็นการเข้า Google Now

DSC00017_Fotor[1]

การสั่งงานด้วยท่าทางหรือ Gesture ยังคงอัดแน่นเช่นเคย และสามารถปรับแต่งเพิ่มเติมได้ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่คือ

  1. Screen-off gestures สั่งงานขณะปิดหน้าจอ เช่น เคาะ 2 ครั้งเพื่อเปิดจอ หรือวาดวงกลมเพื่อเข้ากล้อง
  2. Screen-on gestures สั่งงานขณะเปิดหน้าจอ เช่น ลากสามนิ้วลงเพื่อจับภาพหน้าจอ
  3. Smart call จัดการเรื่องโทร เช่น ยกเครื่องแนบหูเพื่อรับสาย หรือคว่ำเครื่องเพื่อปิดเสียง
  4. Air gesture สั่งงานโดยไม่สัมผัสตัวเครื่อง เช่น ปัดมือผ่านหน้าจอเพื่อดูภาพถัดไปในอัลบั้ม

นอกจากนี้ยังจากสามารถปิดหน้าจอด้วยการเคาะ 2 ครั้งที่ปุ่ม home ได้อีกด้วย เมื่อใช้ร่วมกับ Screen-off gesture ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งานปุ่ม power สำหรับเปิด-ปิดหน้าจอเลย

การออกแบบหน้าตา

DSC00013_Fotor[1]

User Interface บน ColorOS 2.0 ตัด app drawer และเทกระจาดแอปทุกอันไว้ที่หน้าจอ ซึ่งแนวคิดนี้มาจาก iOS และเป็นที่นิยมของรอมจากฝั่งจีน เช่น MIUI ของ Xiaomi และ Funtouch ของ VIVO หรือแม้แต่ EMUI ของ Huawei

ซึ่ง UI ค่อนข้างสวยและเปลี่ยนธีมได้เยอะมาก และจุดเด่นอีกอย่างก็คือ ColorOS ค่อนข้างเบา ไม่หน่วงเครื่องเหมือนบางค่าย ทำให้การเรียกใช้ recent apps หรือส่วนต่างๆ ทำได้ลื่นไหลมาก

การโทร

DSC00018_Fotor[1]

ยังคงรักษาจุดแข็งไว้ได้เช่นเคย เพราะยังสามารถบันทึกเสียงการโทรได้ มีการแจ้งเตือนเมื่อปลายทางรับสาย และมีระบบโทรซ้ำอัตโนมัติ รวมถึงการบล็อกเบอร์ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถถอดซิมที่ 2 และใส่ microSD แทนที่ได้ ในกรณีที่ใช้ซิมเดียวและต้องการพื้นที่ใช้งานที่มากขึ้น

ควบคุมผ่านแผ่นหลังด้วย O-Touch

DSC00010_Fotor[1]

ปุ่ม O-Touch นอกจากจะใช้สำหรับควบคุมการหมุนของกล้องได้ ก็ยังทำหน้าที่เป็นชัตเตอร์สำหรับถ่ายรูป รวมถึงเป็นเครื่องสแกนลายนิ้วมือด้วย ซึ่งการสแกนนิ้วมือให้ความรู้สึกเหมือน iPhone เพราะสามารถกดพร้อมกับสแกนนิ้วได้ทันที โดยจะวางนิ้วองศาใดก็ได้ ซึ่งถือว่าสะดวกกว่า Samsung มาก และระบบสแกนนิ้วสามารถใช้เพื่อปลดล็อกหน้าจอ รวมถึงการล็อกแอปด้วย

ในการใช้งานจริงเรื่องของการสแกนนิ้วมือทำได้ดีมาก แต่การกดบน-ล่างเพื่อควบคุมกล้องทำได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลาปรับตัวสักพัก

รีโมท O-Click

DSC00027_Fotor[1]

สิ่งแรกที่ประทับใจคือ การแกะเพื่อเปลี่ยนถ่านทำได้ง่ายกว่า O-Click รุ่นเก่า และวงแหวนรอบๆ นอกจากจะเป็นแสงไฟแจ้งเตือน notification ก็ยังใช้ควบคุมการหมุนของกล้องได้อีกด้วย โดยกดบน-ล่าง เพื่อหมุนกล้องทีละนิด และซ้าย-ขวาจะเป็นการหมุนกล้องจนสุดทันที

ถ้ากด 2 ครั้งติดกัน จะเป็นการค้นหามือถือ ซึ่งตัว OPPO N3 จะเล่นเสียงริงโทนเพื่อให้รู้ตำแหน่งของเครื่อง หรือการกดค้างเพื่อเรียกใช้งานกล้อง หรือจะใช้เพื่อควบคุมการเล่นเพลงก็ได้

แบตเตอรี่และการชาร์จ

DSC00014_Fotor[1]

แบตเตอรี่อยู่ในเกณฑ์ปรกติ ไม่ได้อึดหรือหมดเร็ว และมีโหลดประหยัดพลังงานให้เลือกใช้ได้ 2 แบบคือ

  1. Normal power saving เลือกได้ว่าจะลดแสงหน้าจอ ปิดการเชื่อมต่อ หรือลดความเร็ว
  2. Super power saving จะปิดการเชื่อมต่อทุกอย่างให้เหลือแค่การโทรและการรับ-ส่งข้อความ SMS

ส่วนการชาร์จด้วยระบบ VOOC ยังคงเป็นจุดเด่นของค่ายนี้ เพราะใช้เวลาเพียง 30 นาทีในการชาร์จ 75 % ซึ่งน่าจะเร็วที่สุดในเวลานี้ และตัวปลั๊กก็มีขนาดเล็กลงจากรุ่นก่อนด้วย

กล้อง

DSC00020_Fotor[1]

มาถึงจุดเด่นที่สุดของรุ่นนี้ เรื่องแรกก็คือเลนส์ Schneider  ซึ่งเป็นเลนส์ที่มีชื่อเสียง และตัวกล้องหมุนได้ 206 องศา ซึ่งการควบคุมการหมุนทำได้ 4 วิธีคือ

  1. ปัดขึ้น-ลงที่หน้าจอ โดยความเร็วในการหมุนขึ้นอยู่กับความเร็วในการปัด
  2. เลื่อนขึ้น-ลงที่ O-Touch
  3. ควบคุมผ่านปุ่มบน O-Click
  4. ใช้มือหมุนโดยตรงที่ตัวกล้อง

การใช้กล้องตัวเดียวและหมุนไป-มาแบบนี้ มีข้อดีคือองศาที่แปลกตา แต่ข้อเสียคือแอปบางตัวไม่รองรับการสลับกล้องหน้า-หลัง ทำให้ต้องหมุนเองด้วยมือ

DSC00026_Fotor[1]

เรื่องของโหมดการใช้งานที่หายไปก็คือ Slow Shutter ซึ่งเป็นจุดเด่นของรุ่นก่อนๆ และก็ยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีการอัพเดทภายหลังหรือไม่ แต่ก็มีโหมดอื่นที่น่าสนใจอย่างเช่น Expert Mode ให้ปรับ White Balance, การชดเชยแสงและปรับระยะโฟกัสได้

UltraHD ที่รีดพลังให้ได้ภาพความละเอียดสูงก็ยังมีให้เลือกใช้ แต่คราวนี้ความละเอียดพุ่งไปถึง 64 ล้านเลยทีเดียว เหมาะสำหรับงานที่ต้องขยายใหญ่เช่น โปสเตอร์หรือบิลบอร์ด ส่วนโหมด Beautify หน้าสวยก็คงไม่ต้องอธิบายกันเยอะ เพราะค่ายนี้ขึ้นชื่อเรื่องนี้อยู่แล้ว

After Focus ที่ถ่ายก่อนแล้วโฟกัสทีหลัง ใช้หลักการคือถ่ายภาพรัวๆ และให้เราเลือกทีหลังว่าต้องการให้ส่วนไหนชัดส่วนไหนเบลอ ซึ่งหลักการนี้คล้ายกับที่ Nokia เคยทำได้ ซึ่งผลลัพธ์ออกมาดีกว่า Selective Focus ของ Samsung เพราะเลือกตำแหน่งการโฟกัสได้ละเอียดกว่า แต่ก็ยังสู้หมายเลขหนึ่งด้านนี้อย่าง HTC One M8 ไม่ได้

อีกโหมดที่ต้องพูดถึงก็คือ Super Macro ที่จะช่วยให้ถ่ายของชิ้นเล็กๆ ได้ง่ายขึ้น แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คนเล่นกล้องคาดหวัง เพราะคำว่า Macro คนมักจะนึกถึงการเอากล้องเข้าไปใกล้วัตถุให้มากที่สุดและสามารถโฟกัสได้ แต่สิ่งที่ Super Macro ทำแท้จริงมันคือ Super Zoom ก็คือการซูมขยายให้เหมือนอยู่ใกล้วัตถุ

โหมดที่เด่นที่สุด ที่เกิดมาเพื่อ OPPO N3 ก็คือ Auto Panorama เพียงแค่เราถือเครื่องไว้ให้นิ่ง และกล้องจะเริ่มหมุนเองจนครบ 206 องศา ข้อดีคือเราสามารถกด stop ได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องรอให้หมุนจนครบ และไม่ต้องกลัวว่ามือสั่นแล้วภาพจะเพี้ยน เพราะ Auto Panorama จะจัดการ crop ตัดเอาเฉพาะส่วนที่นิ่งเนียนตามาให้

เรื่องของระบบโฟกัส ก็สามารถกดสองนิ้วไปยังวัตถุที่ต้องการ เพื่อทำการ tracking หรือติดตามวัตถุ ไม่ว่าวัตถุจะเคลื่อนย้ายไปทางไหน กล้องก็ยังคงโฟกัสที่วัตถุชิ้นนั้นเสมอ

ตัวอย่างภาพถ่าย

IMG20150119130035_UBIFOCUS[1]

 

ในร้านอาหารกลางแจ้งที่แสงมากพอ ได้สีสันที่สดและภาพมีมิติดึงวัตถุออกมาให้โดดเด่นได้พอควร

IMG20150119143626[1]

ถ่ายราวจับระหว่างทางเดินก็ได้ภาพที่น่าสนใจ

IMG20150122123837[1]

ภาพที่ได้จาก Auto Panorama ถ่ายง่ายและภาพออกมาก็ค่อนข้างดูดี แต่ก็มี distorted ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของการถ่ายแบบนี้

IMG20150123141455[1]

การประมวลผลทำเร็วทั้งการถ่ายและการบันทึกภาพ ทำให้การถ่ายรูปเป็นเรื่องสนุก สีสันและรายละเอียดที่ได้น่าประทับใจ

IMG20150121151121[1]

ในที่แสงน้อยที่มีเพียงโคมไฟส่องแสงสีเหลืองนวล ก็ยังคงเก็บรายละเอียดได้ดีเกินมือถือทั่วไป

IMG20150121153008[1]

การที่วัดแสงได้ ช่วยให้เลือกจุดที่ต้องการเน้นและได้รูปที่ได้ดั่งใจมากขึ้น

page-super-macro[1]

ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเข้าไปใกล้วัตถุได้ ก็มี Super Macro ไว้ช่วยซูมภาพให้ใกล้มากขึ้น โดยที่ถือเครื่องในระยะเดียวกันแต่ได้ภาพที่ใกล้กว่า และภาพที่ได้จาก Super Macro ทำได้น่าประทับใจมาก ต่างจากระบบ Digital Zoom ของมือถือส่วนใหญ่

page-compare-1[1]

เรื่องของแสงสี ถือว่าใกล้เคียงความจริงมาก แสงจากโคมไฟที่เป็นสีเหลือง ก็ได้ภาพที่มีสีเหลืองไม่ผิดเพี้ยน ต่างจาก Galaxy Note Edge ที่พกไปด้วย

page-compare-2[1]

นอกจากแสงสีที่ตรงกับความเป็นจริงแล้ว การใช้แสงแฟลชก็มีระยะที่ค่อนข้างไกล

IMG20150116200850[1]

สำหรับการ selfie ค่ายนี้ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง แม้ว่าจะถ่ายในยามค่ำคืนที่ฉากหลังเต็มไปด้วยผู้คนและแสงสี แต่ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าดีมาก

ความเห็นจากทีมข่าวล้ำหน้า

 

DSC00030[1]

OPPO N3 เป็นรุ่นที่ครบเครื่องในทุกๆ ด้าน มีจุดเด่นที่สู้กับเรือธงค่ายอื่นได้สบาย ไม่ว่าจะเป็น O-Touch ที่ใช้สแกนนิ้วมือได้สะดวก O-Click ที่เป็นรีโมทควบคุมตัวเครื่องได้ มีระบบชาร์จ VOOC  และโดยเฉพาะเรื่องกล้องที่ทำได้น่าประทับใจมาก ซึ่งเรื่องของกล้องทำได้ดีในเกือบทุกสถานการณ์ แต่มีแค่สภาวะเดียวที่แพ้คู่แข่งอย่างฉิวเฉียด ก็คือในที่ indoor ถ้าสังเกตให้ละเอียดจะพบว่าภาพมี noise เยอะกว่ารุ่นที่มีเลนส์กันสั่น OIS แต่ในภาพรวมถือว่าทำได้ดีมาก