GULF-AIS-สวพส. ส่งมอบโครงการ “Green Energy Green Network for THAIs” ยกระดับชีวิตชุมชนห่างไกล ด้วยพลังงานสะอาดและเครือข่ายสัญญาณดิจิทัล

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผู้นำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัลชั้นนำ และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ร่วมผนึกกำลังเปิดตัวโครงการ “Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย” โดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

“Green Energy Green Network for THAIs”

โครงการนำร่องเริ่มต้นที่ชุมชนบ้านดอกไม้สด และชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดย GULF และ AIS จะส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ให้ชุมชน พร้อมติดตั้งสถานีฐานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายสัญญาณดิจิทัล ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กรตั้งเป้าขยายผลโครงการต่อเนื่องในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสาร โทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ทั้งชุมชนและเศรษฐกิจ

Green Energy Green Network for THAIs
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS

AIS มองว่าการเข้ามามีส่วนในโครงการนี้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนขององค์กร นอกจากจะช่วยขยายโครงข่ายดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีและพลังงานทดแทนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงข้อมูล ความรู้ และบริการต่างๆ มากขึ้น ก่อเกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข ตลอดจนคุณภาพชีวิต

ขณะที่ทาง GULF เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่าได้เข้าไปติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งมาตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะที่ชุมชนมอโก้โพคีซึ่งเดิมประชาชนปลูกข้าวโพดและมีปัญหาการทำลายป่า GULF จึงได้เข้าไปสนับสนุนการปรับเปลี่ยนมาปลูกกาแฟแทน พร้อมสร้างโรงเรือนและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้พลังงานสะอาดในการแปรรูปเมล็ดกาแฟให้มีคุณภาพ ถือเป็นการสร้างรายได้และอาชีพให้ชุมชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าไม้

Green Energy Green Network for THAIs
นางสาวธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ด้าน สวพส. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สูง ระบุว่าโครงการนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในมิติอื่นๆ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชนอย่างยั่งยืน

นับเป็นความร่วมมือที่น่าชื่นชมของทั้ง 3 หน่วยงาน โดยเฉพาะการนำจุดแข็งขององค์กรมาช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มโอกาสให้ผู้คนในชุมชนห่างไกลได้เข้าถึงองค์ความรู้และบริการพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการนี้จึงนับเป็นต้นแบบที่ดีของการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสร้างประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมสังคมในทุกพื้นที่ของประเทศให้ดีขึ้นอย่างทั่วถึง

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน