Meta พร้อมรับมือ เลือกตั้ง 2566 ชู 5 แนวทางปกป้องการแทรกแซงเพื่อความโปร่งใส

Meta ได้แชร์ความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงาน สำหรับการ เลือกตั้ง 2566 เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ชุมชนในประเทศไทย พร้อมแนวทางการปกป้องการแทรกแซงและส่งเสริมความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566

จัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง

สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงครั้งนี้ ทาง Meta ได้จัดตั้งทีมงานเชิงปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา และมีประสบการณ์ทำงานเตรียมความพร้อมช่วงการเลือกตั้ง ด้วยประกอบไปด้วยบุคลากรชาวไทยที่มีความคุ้นชินกับพื้นที่เลือกตั้งแต่ละจุดเป็นอย่างดี

โดยทีมงานจะเข้ามาทำงานทั้งในเรื่องการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ ความปลอดภัย สิทธิมนุษยชน โดยจะคอยสอดส่องและรับมือต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์

การจัดการเนื้อหาที่อันตราย

Meta มีนโยบายและข้อกำหนดว่า ชุมชนจะต้องปฎิบัติต่อกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกันบนแพลตฟอร์มของเรา และจะทำการลบเนื้อหาใด ๆ ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชน ไม่ว่าจะเป็น คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech), ความรุนแรงและการยุยง, การกลั่นแกล้งและการคุกคาม หรือ การให้ข้อมูลเท็จบางประเภท ทันทีที่เราได้รับรายงาน

นโยบายด้านข้อมูลเท็จของบริษัทไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงหรือหยุดยั้งการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมไปถึงไม่อนุญาตให้มีการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือวิธีการเลือกตั้ง ไปจนถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง และการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายหรือเรียกร้องให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ 

เพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและการดูแลเพจ

Meta จัดทำมาตรการเพิ่มเติมในการสร้างความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและดูแลเพจต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม

  • ความโปร่งใสในการการเผยแพร่โฆษณา: ผู้ลงโฆษณาจะต้องผ่านกระบวนการยืนยันข้อมูลระบุตัวตนผ่านบัตรประชาชนที่ออกโดยรัฐบาล และระบุข้อความ “ได้รับสปอนเซอร์จาก” บนโฆษณา
  • คลังโฆษณา: ศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะที่คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลโฆษณาที่กำลังแสดงผลอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อมูลโฆษณาเกี่ยวกับการเมืองย้อนหลังเจ็ดปีบน Facebook ซึ่งระบุวันเวลา แพลตฟอร์มที่โพสต์ และผู้สนับสนุนโฆษณานั้น ๆ
  • บริบทของบัญชีและเพจต่าง ๆ: Meta อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถดูประเทศของผู้ดูแลเพจได้ และได้เปิดตัว เกี่ยวกับบัญชีนี้ ทาง Instagram ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ยับยั้งเครือข่ายที่แทรกแซงความโปร่งใส

ทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ Meta จะสอดส่องและรับมือกับเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยและอาจมีการแทรกแซงความโปร่งใส เช่น การมีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ (coordinated inauthentic behavior หรือ CIB) ซึ่งในช่วงการเลือกตั้ง CIB มุ่งบงการชักใยและสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชนเพื่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ผ่านบัญชีปลอม และร่วมกันให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับตัวตนและเจตนาของพวกเขา

ร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเลือกตั้ง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง

ก่อนการ เลือกตั้ง 2566 ที่จะเกิดขึ้นนี้ Meta ได้มีการทำงานจัดทำโครงการร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ

การสร้างเสริมขีดความสามารถ: ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา Meta ได้จัดอบรมให้กับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเฝ้าระวังการเลือกตั้ง องค์กรไม่หวังผลกำไร และผู้สมัครรับเลือกตั้ง เกี่ยวกับนโยบาย บริการ เครื่องมือ และระบบการรายงานของ Meta

แคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ (‘Empathy Heroes’): สื่อรณรงค์ในรูปแบบแอนิเมชันจาก Meta ร่วมกับโคแฟคประเทศไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย, มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ, มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, และไซด์คิก เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสามารถระบุข้อมูลบิดเบือนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงบวกและมีความรับผิดชอบ (Civic Engagement) ในช่วงการเลือกตั้ง