JobsDB เผยปี 2023 คนทำงาน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ยังคงเปิดโอกาสมอง หางานใหม่

JobsDB เผยปี 2023 ผู้สมัครงาน 1 ใน 3 ของ คนทำงาน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ยังคงเปิดโอกาสมอง หางานใหม่ แนะผู้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการสรรหาเพื่อดึงดูดคนเก่ง

JobsDB คนทำงาน หางานใหม่ 2023

SEEK (ซีค) บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ชั้นนำของเอเชียอย่าง JobStreet (จ๊อบสตรีท) และ JobsDB (จ๊อบส์ดีบี) คาดการณ์ว่าตลาดแรงงานในปี 2023 จะยังคงเป็นตลาดของผู้สมัครงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง โดย1 ใน 3 ของ คนทำงาน ยังคงเปิดโอกาสมอง หางานใหม่ แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มเริ่มชะลอตัวก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นข้อมูลจากรายงานผลสำรวจใหม่ล่าสุดในหัวข้อ สิ่งที่ผู้สมัครอยากให้ผู้ประกอบการรู้: อนาคตแห่งการจ้างงาน และการสรรหาที่เปลี่ยนไป (What Job Seekers Wish Employers Knew: Unlocking the Future of Recruitment) ที่ SEEK (ซีค) ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) (บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด) และ The Network (เดอะ เน็ตเวิร์ค) พันธมิตรระดับโลก ของเว็บไซต์หางานที่ JobStreet และ JobsDB ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น

การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามรวม 97,324 คน จากอินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยพบว่า 34% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังมองหางานใหม่ ทั้งนี้ เหตุผล 3 อันดับแรกที่ทำให้ผู้สมัครงานเริ่มมองหางานใหม่คือ ต้องการมองหาตำแหน่งที่น่าสนใจกว่าหรือตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม (49%), งานที่ทำอยู่ปัจจุบันมีโอกาสในการเติบโตน้อย (30%) และเงินเดือนและสวัสดิการในปัจจุบันยังไม่น่าพอใจ (27%)

โดยจากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามยังคงรู้สึกมั่นใจที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ แม้จะกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังรู้ว่าพวกเขายังคงเป็นที่สนใจของของผู้ประกอบการอยู่ จากการสำรวจพบว่า 74% ของผู้สมัครงานทั่วภูมิภาคได้รับการติดต่อเรื่องตำแหน่งงานใหม่ ๆ ปีละหลายครั้ง และ 36% ได้รับการติดต่อทุกเดือน สำหรับในประเทศไทย ตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 68% และ 34% ตามลำดับ นอกจากนี้ 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคนี้ และ 68% ของไทยรู้ว่าอำนาจในการเจรจาต่อรองในตำแหน่งงานต่าง ๆ ยังคงเป็นของพวกเขาเช่นกัน

Peter Bithos (ปีเตอร์ บิโธส) ประธานกรรมการบริหาร SEEK Asia แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลสำรวจครั้งนี้ว่า “เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มเริ่มถดถอย ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มชะลอการจ้างงาน ดุลอำนาจในตลาดแรงงานจึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากผู้หางานมาเป็นผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าสถานการณ์ครั้งนี้แตกต่างออกไป จากการที่หลายองค์กรในเอเชียยังคงฟื้นตัวจากงานที่สูญเสียไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์อัตราการจ้างงานอาจชะลอตัวท่ามกลางความไม่แน่นอน เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ณ ขณะนี้ ตลาดงานยังคงเป็นตลาดของผู้สมัครงาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องรู้วิธีดึงดูด สรรหา และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้”

“ผลสำรวจนี้ยังพบว่า ถึงแม้บริษัทเทคโนโลยีในภูมิภาคและทั่วโลกจะมีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่ความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความสามารถก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตของ SEEK เกี่ยวกับโฆษณางานสำหรับตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นถึง 29% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2021 เทียบกับ 2022) โดยอิงตามข้อมูลจากแพลตฟอร์ม JobStreet และ JobsDB ของเรา” Peter Bithos (ปีเตอร์ บิโธส) กล่าวเสริม

สิ่งที่ผู้สมัครงานให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (71%) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงกล่าวว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคืองานที่มั่นคงและความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เช่นเดียวกับผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยจำนวน 77% ที่ต้องการสิ่งเดียวกันโดยความต้องการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันจากผู้สมัครที่ร่วมตอบแบบสำรวจในทุกตำแหน่งงาน ทุกตลาด และทุกช่วงอายุ

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับปัจจัยชี้ขาดที่ผู้สมัครงานใช้ตัดสินใจเมื่อหางานใหม่ โดยผู้สมัครงานมองว่าความสมดุลระหว่างชีวิตและงาน (17%) เป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญรองจากค่าตอบแทนทางการเงิน (22%) นอกจากนี้จำนวนวันลาหยุดและความมั่นคงของงานเป็นปัจจัยชี้ขาดอันดับสามที่ผู้สมัครงานให้ความสำคัญ

Sagar Goel (ซาการ์ โกเอล) พาร์ทเนอร์และผู้ช่วยผู้อำนวยการ BCG กล่าวว่า “ความคาดหวังของผู้คนที่มีต่องานเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้สมัครงานส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้ชีวิตเพื่อทำงานอีกต่อไปแต่พวกเขาต้องการทำงานเพื่อใช้ชีวิต ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่าอัตราเงินเดือนที่สูงอาจเป็นหนทางหนึ่งในการดึงดูดคนมีความสามารถ อย่างไรก็ตาม เงินเดือนดังกล่าวไม่อาจรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ในระยะยาว โดยผู้หางานในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน สร้างความยืดหยุ่น และต่อยอดความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน”

Peter Bithos (ปีเตอร์ บิโธส) กล่าวต่อว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เป็นเหมือนการปลุกให้หลายคนได้ตื่นขึ้น ทุกวันนี้เราเริ่มก้าวเข้าสู่ยุค ‘The Great Reconfiguration’ ผู้สมัครงานกำลังปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยพวกเขาให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวและความยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มองหาผู้สมัครงานที่มีทักษะที่แตกต่าง และยังคงเน้นที่ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการดึงดูดคนเก่ง คนมีทักษะ ก็จะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนหางานที่เปลี่่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน”

นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ JobsDB Thailand (จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย) กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย ผู้สมัครงานมากถึง 72% ต้องการการทำงานแบบ Hybrid ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึง 18% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง 10% ทั้งนี้ ตลาดแรงงานไทยนับเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ตำแหน่งงานที่ได้รับการเสนองานบ่อยเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่สายงานด้านไอที แต่เป็นสายงานผู้ใช้แรงงาน (58%) และภาคธุรกิจบริการ (57%) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องการบุคลากรในสายงานไอทีเป็นจำนวนมาก สะท้อนจากจำนวนการเสนองานต่อสัปดาห์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมล้วนปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน”

กระบวนการจ้างงานที่ผู้สมัครงานมองหา

การสำรวจนี้ยังได้หักล้างและพิสูจน์ความเชื่อผิด ๆ ในการจัดหางานหลายประการ รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้สมัครงานต้องการบนเส้นทางการสมัครงาน ตัวอย่างเช่น

  • กระบวนการสรรหาที่ราบรื่นและรวดเร็วเป็นปัจจัยอันดับแรกที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการในระหว่างกระบวนการการคัดสรรบุคลากร (67%) และ 49% ของผู้สมัครงานจะปฏิเสธข้อเสนองานที่น่าดึงดูดหากพวกเขาเผชิญกับประสบการณ์เชิงลบ
  • แพลตฟอร์มการจัดหางานเป็นช่องทางยอดนิยมที่ใช้ในการสมัครงาน ในขณะเดียวกันคำแนะนำของเพื่อน ก็ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกระตุ้นความสนใจคนที่ไม่ได้กำลังมองหางานให้เริ่มหางาน อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย การติดต่อส่วนตัวจากคนในแวดวงอาชีพเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นความสนใจ และหากพวกเขาเกิดความสนใจแล้ว ส่วนใหญ่มักจะหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ของบริษัทต่อไป  
  • เครื่องมือดิจิทัลเพื่อช่วยในการคัดสรรพนักงานที่ล้ำสมัยในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแม้กระทั่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลายคนชอบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในช่วงกระบวนการคัดสรรบุคลากร โดยมีเพียง 24% ที่ระบุว่ารู้สึกสบายใจกับการเข้าร่วมการสัมภาษณ์อัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการสัมภาษณ์

ผลสำรวจนี้ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงกระบวนการสรรหา และข้อเสนอทั้งหมดที่จะเสนอให้กับผู้สมัคร ซึ่งรวมถึงวิธีเอาชนะอคติด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มกลุ่มคนเก่ง การปรับแนวทางปฏิบัติต่อคนที่มีบุคลิกภาพที่แตกต่าง วางวัฒนธรรมพื้นฐานที่เหมาะสม และอื่น ๆ