Intel เปิดนวัตกรรมไอทีแห่งอนาคต ดันไทยสู่เป้าหมายประเทศดิจิทัลชั้นนำ

ผลจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเดินเครื่องการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างรวดเร็ว รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ธุรกิจกว่า 56% ตอบรับการใช้งานโซลูชันดิจิทัล และหันมาลงทุนด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) และดาต้าเซนเตอร์เพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีส่วนช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีมากถึง 25% ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมาย Thailand 4.0 มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอยู่ที่เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductors) ซึ่งเป็นขุมพลังสำคัญของทุกอุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงคลาวด์ เครือข่ายข้อมูล และอื่น ๆ ในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อินเทลมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ด้วยพันธกิจความมุ่งมั่น 4 ประการได้แก่ การกระจายแหล่งการผลิตของห่วงโซ่อุปทานชิปทั่วโลก, การปลดล็อกขุมพลังของเทคโนโลยีด้วยกฎของมัวร์ (Moore’s law), การช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างเท่าเทียมกันด้วยแนวทางที่เน้นซอฟต์แวร์เป็นหลัก และการขับเคลื่อนอนาคตนวัตกรรมด้วยการทำงานร่วมกัน

กระจายแหล่งการผลิตของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและอนาคตแห่งดิจิทัลของเราทุกคน เพราะเป็นพลังหลักในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนี้ อินเทลมีความมุ่งมั่นที่จะกระจายตลาดการผลิตให้กับห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกด้วยการลงทุนด้านการผลิตซิลิคอน เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าตลาดจะมีจำนวนเซมิคอนดักเตอร์ประสิทธิภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ถือเป็นกลยุทธ์ IDM 2.0 ซึ่งเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญต่อยอดจากรูปแบบกลยุทธ์การผลิตอุปกรณ์แบบครบองค์รวม (IDM) ของอินเทล

โดยแผนการลงทุนดังกล่าว ครอบคลุมการสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์และโรงงานทดสอบชิปแห่งใหม่ในมาเลเซียด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2.67 แสนล้านบาท และลงทุนกว่า 7.64 แสนล้านบาทในช่วงเริ่มต้นของการสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งแรกที่ซิลิคอนฮาร์ทแลนด์ในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ อินเทลยังมีแผนที่จะลงทุนอีก 6.31 แสนล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประสิทธิภาพสูงและทันสมัยในเมืองมักเดเบิร์ก (Magdeburg) ประเทศเยอรมนี ซึ่งการลงทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนของอินเทลในภูมิภาคยุโรปที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2.9 ล้านล้านบาทเพื่อสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่การทำวิจัยและพัฒนา สู่ขั้นตอนการผลิตและการบรรจุภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ปลดล็อกสุดยอดขุมพลังแห่งเทคโนโลยีด้วยกฎของมัวร์

การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประสิทธิภาพสูงของอินเทลจะช่วยยกระดับขีดความสามารถและความก้าวหน้าของมนุษย์ให้เหนือชั้นกว่าที่เคย ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “4 สุดยอดขุมพลังเทคโนโลยี” ได้แก่

  1. การบูรณาการคอมพิวเตอร์เข้ากับโลกความจริงอย่างไร้ขอบเขต (ubiquitous computing) ซึ่งมอบความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ทุกที่ทุกเวลา
  2. โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ทูเอดจ์ (cloud-to-edge infrastructure) ที่มอบโซลูชันที่ปรับเปลี่ยนขนาดได้เพื่อการประมวลผลข้อมูลขนาดมหาศาล และสามารถตอบสนองความต้องการของแอปพลิเคชันที่มีความหน่วงต่ำและแบนด์วิธสูงได้
  3. เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน (pervasive connectivity) ซึ่งทำให้เทคโนโลยีสื่อสารได้กับทุกคนและทุกสิ่ง
  4. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งนำความอัจฉริยะด้านเทคโนโลยีมาสู่อุปกรณ์และซอฟต์แวร์

สุดยอดขุมพลังเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ขยายความต้องการในการประมวลผลทั่วโลกให้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ซึ่งแปรผกผันกับขนาดของเทคโนโลยีที่เล็กลงเรื่อย ๆ เท่ากับว่าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งกฎของมัวร์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจำนวนทรานซิสเตอร์บนชิปจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ สองปี ความต้องการด้านศักยภาพการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นในทุกที่ทั่วโลกนั้นจะเป็นปัจจัยผลักดันให้อินเทลและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องรักษาขีดความสามารถให้คงที่ตามการคาดการณ์ของมัวร์

สุดยอดขุมพลังเทคโนโลยีทั้งสี่นี้และยุคใหม่ของกฎของมัวร์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเป้าหมายนโยบาย Thailand 4.0 ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึงดึงดูดการลงทุนและผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยอินเทลจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

การช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างเท่าเทียมกันด้วยแนวทางที่เน้นซอฟต์แวร์เป็นหลัก

ในปัจจุบัน โลกของเราไม่ได้มีแค่สถาปัตยกรรมการคำนวณแบบดั้งเดิม (Monolithic Computing Architecture) เพียงอย่างเดียวแล้ว ซอฟต์แวร์ได้พัฒนาตัวเองเพื่อรวมหน่วยแยกต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อทำงานแทนฮาร์ดแวร์ประเภทต่าง ๆ ที่มีมากมาย ซึ่งทุกวันนี้นักพัฒนาได้ผลัดเปลี่ยนใช้งานระหว่างอินเทอร์เฟซและชุดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ตามโปรเจกต์ที่ต้องทำ กับตัวฮาร์ดแวร์ที่เหมาะใช้งานกับโปรเจกต์นั้น ๆ ได้ดีที่สุด โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยบริการเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จะเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมให้เหล่านักพัฒนาได้นำเสนอนวัตกรรมโซลูชันที่มีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมปัญหาความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เพื่อช่วยให้นักพัฒนาร่นระยะเวลาส่งมอบบริการตามความต้องการ (time-to-value) ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อินเทลจึงลงทุนในชุดเครื่องมืออย่าง oneAPI ที่นำวิธีการแบบโมดูลมาใช้ รวมถึงจัดเตรียมโมเดลการเขียนโปรแกรมแบบเดี่ยวด้วยชุดไลบรารีข้ามสถาปัตยกรรม (cross-architecture libraries) เครื่องมือ และเฟรมเวิร์กแบบครบวงจรซึ่งใช้ภาษาและมาตรฐานที่คุ้นเคย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่นักพัฒนาในการทำงานด้วยการเข้ารหัสและเข้าถึงตลาดได้เร็วขึ้นกว่าที่เคย

เป้าหมายที่แท้จริงของเราคือการขจัดอุปสรรคความท้าทายของโค้ด ด้วยการนำเสนอโมเดลการเขียนโปรแกรมแบบเดี่ยวสำหรับสถาปัตยกรรมทั้งหมด และช่วยให้เกิดความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างระบบต่าง ๆ (interoperability) เข้ากับการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อนักพัฒนาสร้างสรรค์โซลูชัน บริการ และแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีของอินเทล เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยดึงศักยภาพของแพลตฟอร์มทั้งหมดไปสู่ระดับแอปพลิเคชันและเวิร์กโหลดที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญซึ่งมีเพียงอินเทลเท่านั้นที่ทำได้ นอกจากนี้ ด้วยความต้องการด้านการประมวลผลและทรัพยากรของโลกที่เพิ่มมากขึ้น อินเทลมองว่าซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตอันใกล้จะมีการขยายไปสู่ CPU, GPU, FPGA, ASIC และอื่น ๆ อีกมากมาย และตั้งเป้าที่จะขยายการเข้าถึงให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกแอปพลิเคชันสามารถทำงานได้ดีที่สุดบนเทคโนโลยีของอินเทล ไม่ว่าจะใช้สถาปัตยกรรมแบบใดก็ตาม

การขับเคลื่อนอนาคตนวัตกรรมด้วยการทำงานร่วมกัน

เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าอนาคตดิจิทัลอันสดใสของประเทศไทยนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ธุรกิจของไทยสามารถนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AI หรือคลาวด์คอมพิวติ้ง ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็เรียนรู้การใช้งานบริการดิจิทัลผ่านสมาร์ตโฟน เช่น อีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน (fintech) และความบันเทิงออนไลน์ ที่พลิกโฉมรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาจยังต้องเผชิญความท้าทายที่มาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจระดับมหภาค (Macroeconomic circumstances) ความก้าวหน้าของไทยอาจหยุดชะงักหากขาดพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง หากธุรกิจไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลไม่สามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาก็จะไม่สามารถก้าวทันโลกยุคใหม่ได้เลย

พันธกิจความมุ่งมั่นของอินเทลที่จะช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งอยู่ที่การวางรากฐานสำหรับอนาคตนวัตกรรมและการทำงานร่วมกัน ด้วยความเชี่ยวชาญของอินเทลในด้านซิลิคอน แพลตฟอร์ม สถาปัตยกรรม ซอฟต์แวร์ การผลิต และการปรับขยายขนาดของเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด อินเทลจึงสามารถช่วยให้สังคมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ รับมือกับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้ รวมถึงช่วยให้พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมแห่งอนาคตได้ด้วย

กลยุทธ์และแนวทางที่เปิดกว้างของอินเทลสามารถช่วยให้ระบบนิเวศต่าง ๆ เติบโต พร้อมทั้งกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มพูนมูลค่าขององค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เรามุ่งมั่นที่จะเดินหน้าส่งมอบพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ประเทศไทยและทั่วโลกก้าวสู่ยุคสมัยอันยิ่งใหญ่แห่งเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต

เนื้อหาโดย : อเล็กซิส โครเวลล์ รองประธานกลุ่มการขาย การตลาด และการสื่อสาร และกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท อินเทล คอร์เปอเรชั่น