HUAWEI จัดสัมมนา Thailand Talent Talk มุ่งผลักดัน บุคลากรด้านไอซีที ในกลุ่ม SME เพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

HUAWEI จัดสัมมนา Thailand Talent Talk Episode 3 เพื่อหารือกับภาครัฐและพันธมิตร มุ่งส่งเสริมพัฒนา บุคลากรด้านไอซีที ในกลุ่ม SME ในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยหลังการระบาดของโควิด-19

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด (HUAWEI) จับมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT และตัวแทนจากพาร์ทเนอร์ภาครัฐ จัดงานสัมมนา Thailand Talent Talk Episode 3 ในหัวข้อ “ฟูมฟักบุคลากรด้านดิจิทัลเพื่อผลักดันการเติบโตของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (Fostering Digital Talent Capacity to Boost SME and Startup Growth)” เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนา บุคลากรด้านไอซีที โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของประเทศไทย เพื่อเป็นขุมพลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจท่ามการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 พร้อมกระตุ้นพันธมิตร หน่วยงานเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยีสำหรับรองรับสตาร์ทอัพในระยะยาว

ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นกล่าวในประเด็นเรื่องความสำคัญของบุคลากรดิจิทัลในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า “เทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมจะเข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อสังคมการใช้ชีวิตของผู้คน และ 45% ของงานในอนาคตจะทำงานโดยอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทุกประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างด้านทักษะดิจิทัล ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะบุคลากรถือเป็นกุญแจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน และเราจำเป็นต้องใช้ความพยายามและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มในด้านบุคลากรดิจิทัลเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มเอสเอ็มอีไทย โดยกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นเป็นผู้สร้างนวัตกรรม ผู้ปฏิวัติวงการ และผู้บุกเบิกเทรนด์ใหม่ ๆ โดยน่าจะสร้างอัตรางานใหม่ถึง 2 ใน 3 จากจำนวนงานที่มีทั้งหมด และกินสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศทั่วโลก (GDP) ถึง 35-50% ซึ่งการที่ดิจิทัลเทคโนโลยีในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตสูงมากถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของเอสเอ็มอีไทย เพียงแต่ว่าเราต้องการจำนวนบุคลากรไอซีทีที่มากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการตรงนี้ได้อย่างรวดเร็ว”

“ในมุมมองของหัวเว่ย เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดผลกระทบใหม่ในภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีเพื่อให้สามารถปฏิวัติ (Disrupt) วงการและบริษัทของตัวเองได้ ช่วยให้สามารถเข้าใจความคิดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงช่วยวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ในอนาคต ซึ่งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพก็ถือเป็นตัวผลักดันสำคัญสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ทั้งนี้ หัวเว่ย ประเทศไทย ได้ทุ่มเททรัพยากรในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์เรื่องการเชื่อมต่อ คลาวด์คอมพิวติ้ง ดิจิทัลพาวเวอร์ โครงข่ายองค์กร และอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่ทั่วทั้งโลกกำลังให้ความสำคัญกันอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในอีโคซิสเต็มต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโครงการฟูมฟักผู้มีความสามารถด้านไอซีทีรุ่นใหม่ อันได้แก่ โครงการ “Seeds for the Future” การแข่งขัน “Thailand Cyber Top Talent 2022” สถาบัน ASEAN Academy โครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคม (Digital Bus) และโครงการแข่งขัน Huawei ICT Competition ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมนี้” เขากล่าวเสริม

ด้านนายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ขึ้นกล่าวในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า “กระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มีการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยเราสามารถมองเห็นเทรนด์เรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนเมื่อดูจากความเร็วและความคิดสร้างสรรค์ในหมู่สตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตและพัฒนาขึ้น โดยหัวเว่ยถือเป็นบริษัทเอกชนที่ส่งเสริมกลยุทธ์ด้านการสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับสตาร์ทอัพในระดับโลก มีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้บนแพลตฟอร์มคลาวด์ของหัวเว่ย รวมทั้งให้พวกเขาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าสู่ตลาด และการระดมทุนได้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทยอีกด้วย”

ด้าน ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ได้กล่าวถึงการส่งเสริมกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนเอสเอ็มอีอยู่ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านราย ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่ว่ามีกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพแค่ประมาณ 1,000 รายเท่านั้น โดยตอนนี้ ความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญก็คือการสับสนเรื่องนิยามของคำว่าเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ กฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งสภาดิจิทัลและฝ่ายต่างๆ ได้ผลักดันการแก้ไขไปมากแล้ว 12 เดือนที่ผ่านมา และการขาดแคลนบุคลากรไอซีทีที่สามารถเขียนโปรแกรมในระดับสูง และการขาดทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งเรามองว่าการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรไอซีทีเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ต้องมากำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนร่วมกัน เนื่องจากเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายในประเทศ”

นายวิทวัส ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวเสริมว่า “การส่งเสริมเอสเอ็มอีจะประกอบไปด้วยการสร้างการเติบโตที่ครอบคลุม มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มซึ่งมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไป สร้างการเติบโตโดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านการตลาดที่รอบด้านสำหรับตลาดภายในประเทศและผลักดันให้เอสเอ็มอียกระดับตัวเองสู่สากล รวมไปถึงการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการเติบโตสำหรับภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ในส่วนของแนวทางการพัฒนาธุรกิจในระยะเริ่มต้น (Early Stage) เราจะกำหนดแนวทางการส่งเสริมโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน คนรุ่นใหม่ ผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ และผู้ประกอบธุรกิจในระยะไม่เกิน 3 ปี ตลอดจนผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยมุ่งหวังให้เยาวชน นักศึกษา ผู้ที่ตั้งใจจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในระดับต่าง ๆ มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้และทักษะเมื่อตัดสินใจจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ สามารถมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตในระยะยาวขณะเดียวกันก็มีแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในระยะเริ่มต้น”

HUAWEI-สัมมนา-บุคลากรด้านไอซีที-SME

สำหรับงานสัมมนา Thailand Talent Talk Episode 3 ในหัวข้อ “ฟูมฟักบุคลากรด้านดิจิทัลเพื่อผลักดันการเติบโตของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพนี้ จัดขึ้นในวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ ศูนย์ Customer Solution Innovation and Integration Experience Center (CSIC) ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มเปิดกว้างสำหรับพูดคุยเรื่องความท้าทาย แนวทางปฏิบัติ และแนวทางการบ่มเพาะอีโคซิสเต็มสำหรับผลักดันกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยก่อนหน้านี้ หัวเว่ย ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสมาคม GCNT จัดงานสัมมนา ในการสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทย และงานเสวนาในหัวข้อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัล พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับเทรนด์ประเทศไทยยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยงานสัมมนา Thailand Talent Talk มีเป้าหมายเพื่อมุ่งผลักดันการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีในประเทศไทย

ทาสกระต่าย Always and Forever