ชวนส่องเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ดาวเทียม ภายใต้การดูแลของ GISTDA

วันนี้ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ชวนไขข้อสงสัยเรื่องการใช้งานและการบริหารจัดการ ดาวเทียม ภายใต้การดูแลของ GISTDA

เคยสงสัยกันหรือไม่? ว่าดาวเทียมที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเหนือชั้นบรรยากาศของโลกมีหน้าที่อย่างไร? และในประเทศไทยมีการพัฒนาในด้านดาวเทียมหรือไม่ นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการจัดการบริหารประเทศได้อย่างไร

ดาวเทียมนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อส่งขึ้นไปใช้งานในอวกาศตามภารกิจที่แตกต่างกันไป โดยดาวเทียมแต่ละชนิดจะถูกส่งขึ้นไปในวงโคจรระดับต่างๆ ซึ่งหากแบ่งตามภารกิจการใช้งานแล้วนั้น สามารถแบ่งประเภทของดาวเทียมออกเป็น

  1. ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ใช้สำหรับการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติภาคพื้นดิน
  2. ดาวเทียมสื่อสาร ใช้ในกิจการโทรคมนาคม
  3. ดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือที่ใครหลายคนอาจคุ้นหูในชื่อ GPS GNSS ที่ใช้งานด้านการสำรวจและการหาพิกัดข้อมูลของตำแหน่งที่ต้องการ
  4. ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา มักใช้ในการตรวจสอบสภาพอากาศ ดูการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ และสุดท้ายคือดาวเทียมสำรวจอวกาศ มีภารกิจในการตรวจหาวัตถุต่างๆ ในอวกาศ

ประเทศไทยเริ่มมีการนำดาวเทียมมาใช้งานเพื่อช่วยการบริหารจัดการทรัพยากร โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 2514 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจองค์การนาซาในการส่งดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรก  ซึ่งดำเนินการโดยกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในขณะนั้น หลังจากนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้นจึงได้จัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ในปี 2525 ซึ่งถือว่าเป็นสถานีรับสัญญาณดาวเทียมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปี 2551 นับเป็นความสำเร็จทางด้านอวกาศของประเทศไทยอีกครั้งกับการส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย ชื่อ THEOS หรือที่หลายคนมักคุ้นกันในชื่อดาวเทียม “ไทยโชต” เพื่อใช้ในภารกิจด้านการสำรวจเชิงพื้นที่ของประเทศ

ดาวเทียม GISTDA

นอกจากประโยชน์ด้านการสำรวจเชิงพื้นที่แล้ว GISTDA ยังนำข้อมูลที่ได้รับสัญญาณจากดาวเทียมหลากหลายชนิด มาช่วยในการบริหารจัดการตามภารกิจของประเทศ และที่มักจะเห็นได้บ่อยก็คือการบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เช่น การบริหารจัดการวิกฤตไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม การตรวจเช็คสภาพฝุ่นละออง PM 2.5 และกรณีล่าสุดคือใช้ในการบริหารวิกฤตคราบน้ำมันรั่วในพื้นที่อ่าวไทย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่ง GISTDA มี ดาวเทียม ภายใต้การดูแลกว่า 30 ดวง

ปัจจุบัน ประเทศไทย อยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการ THEOS-2 ซึ่งจะมีการสร้างดาวเทียม 2 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมหลักและดาวเทียมเล็ก เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เสริมศักยภาพความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้

ติดตามเนื้อหาสาระน่ารู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ที่ GISTDA INSIGHT ผ่านทาง YouTube: GISTDA หรือติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของ GISTDA ที่ Facebook : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ที่มา: https://youtu.be/TAY6s1bpu8A