HUAWEI

ไทยคว้าแชมป์ระดับโลกในงานแข่งขัน Tech4Good จัดโดย หัวเว่ย เป็นครั้งแรก!

ทีม Are u OK? ตัวแทนประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศจากผลงานโซลูชันสำหรับช่วยให้ผู้ป่วย คว้าแชมป์ระดับโลกในงานแข่งขัน Tech4Good จัดโดย หัวเว่ย

หัวเว่ย ประกาศรายชื่อผู้ชนะการแข่งขันระดับโลก Tech4Good ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยทีม “Are u OK?” ตัวแทนประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศจากผลงานโซลูชันสำหรับช่วยให้ผู้ป่วยในประเทศไทยได้รับการรักษาในสถานการณ์ฉุกเฉินรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้นวัตกรรมการวางเส้นทางและการสื่อสารแบบเรียลไทม์ระดับสูงจากเทคโนโลยี 5G, AI และเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อลดระยะเวลาการขนส่งผู้ป่วยมายังศูนย์การแพทย์ ทั้งยังช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย

การแข่งขัน Tech4Good เป็นโครงการใหม่ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2564 ภายใต้โครงการฝึกอบรม Seeds for the Future อันเป็นโครงการเรือธงของหัวเว่ย โดย Tech4Good จะเปิดให้นักเรียนที่เข้าร่วมได้ระบุถึงปัญหาทางสังคมและเสนอโซลูชันทางเทคนิคเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านทักษะด้านไอซีทีที่พวกเขาได้เรียนรู้จากโครงการนี้ โดยการแข่งขันครั้งนี้ได้รับการออกแบบให้ช่วยบ่มเพาะทักษะด้านความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม ด้วยการฝึกฝนและการแข่งขันกันระหว่างกลุ่ม

หัวเว่ย Tech4Good

โครงการ Seeds for the Future ได้รับการเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2551 เพื่อพัฒนาผู้มีทักษะด้านไอซีที ภายในประเทศนั้นๆ พร้อมกับเชื่อมช่องว่างด้านการสื่อสารและสานวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ โดยเยาวชนจากทั่วทุกมุมโลกจะได้ศึกษาเทคโนโลยีไอซีทีในระดับสูง เสริมสร้างทั้งความเชี่ยวชาญและทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง โดยในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 3,500 คน จาก 117 ประเทศ ทำให้มีจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสะสมทั้งหมดในช่วง 13 ปีที่ผ่านมามากถึง 120,000 คน จาก 139 ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โครงการนี้ได้สร้างประโยชน์ให้แก่นักเรียนไทยถึง 215 คนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานในพิธีมอบรางวัล แคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและคณะกรรมการบริหารของหัวเว่ย ได้กล่าวถึงความสำเร็จอย่างล้นหลามของโครงการในปีนี้ว่า “การเข้าร่วมโครงการ Seeds for the Future ในปี พ.ศ. 2564 ถือว่าได้ทำลายสถิติที่เราเคยมีมาทั้งหมด โดยเราได้รับข้อเสนอแนะและความสนใจจากผู้เข้าร่วมโครงการอย่างอบอุ่น นอกจากนี้ ดิฉันยังรู้สึกประทับใจในความสนใจอย่างแรงกล้าและความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก” ทั้งนี้ เธอยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการที่มุ่งพัฒนาความครอบคลุม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการร่วมมือกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งกล่าวถึงวัตถุประสงค์ทางสังคมด้านอื่นๆ อีกด้วย

หัวเว่ย Tech4Good

ในการแข่งขันดังกล่าว ทีมผู้ชนะจะได้เข้ารับคำปรึกษาและคำแนะนำเป็นการส่วนตัวจากคณะผู้บริหารของหัวเว่ย และยังได้รับโอกาสขึ้นกล่าวในงานประชุมระดับนานาชาติและงานอีเวนท์อื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ทีมที่ชนะเลิศอันดับหนึ่งจะได้รับโอกาสเข้าพบกับนักลงทุนเพื่อนำเสนอโครงการของพวกเขาอีกด้วย

ทีมชนะเลิศ “Are u OK?” จากประเทศไทยได้นำเสนอโซลูชันที่ชื่อว่า Turning Green ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่กระบวนการขนส่งผู้ป่วยในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยได้ประยุกต์ใช้ชุดเทคโนโลยีแผนที่ (map kit) เทคโนโลยีคลาวด์ และเทคโนโลยีเสาอัจฉริยะ power cube 500 จากหัวเว่ย เพื่อตอบโจทย์เรื่องการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไปถึงมือแพทย์ที่โรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ช่วยให้บุคลากรแพทย์สามารถขนส่งผู้ป่วยได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถช่วยรองรับโปรเจ็คสมาร์ทซิตี้ในอนาคตของรัฐบาล เป้าหมายของแพลตฟอร์ม Turning Green คือการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินในระหว่างการขนส่งเนื่องจากประสบปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด รวมทั้งช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งนี้ โซลูชันดังกล่าวจะให้บริการในรูปแบบแอปพลิเคชันแก่โรงพยาบาลและรถพยาบาลอัจฉริยะ โดยจะใช้โมเดลธุรกิจในรูปแบบการเก็บค่าบริการแบบสมัครสมาชิกจากในแอปพลิเคชัน

ภายในพิธีมอบรางวัล นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จและชัยชนะของทีมจากประเทศไทยว่า “ผมขอขอบคุณนิสิตและนักศึกษาทุกคนสำหรับความตั้งใจและความพยายามอย่างหนักในการพัฒนาโครงการที่มีแนวคิดดีๆ เช่นนี้ และต้องขอขอบคุณหัวเว่ยในการจัดโครงการเพื่อสังคมที่มีคุณภาพ ทั้งยังช่วยบ่มเพาะทักษะทางไอซีทีของบุคลากรในประเทศไทยอีกด้วย”

การพัฒนาทักษะทางดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่หัวเว่ยเน้นย้ำในเชิงยุทธศาสตร์มาโดยตลอด โดยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้จัดโครงการ Seeds for the Future ครั้งที่ 13 มีนิสิตและนักศึกษาทั้งหมด 15 คนที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจากผู้สมัครทั้งหมด 30 คน ประกอบไปด้วยนิสิตและนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับประเทศไทย กลุ่มนิสิตและนักศึกษาได้เข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตรเข้มข้นรวมทั้งหมด 8 วันทั้งในรูปแบบออนไลน์และห้องเรียน ซึ่งการอบรมในห้องเรียนนั้นมีหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี 5G ความรู้ด้านเทคโนโลยี Cloud และ AI วัฒนธรรมจีนดั้งเดิม การแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการ Seeds พร้อมเข้าเยี่ยมชมศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC)

ในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนมากถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ภายในปี พ.ศ. 2573 และประเทศไทยกำลังขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนอย่างรวดเร็วในด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G และแอปพลิเคชันต่างๆ สำหรับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ติดตั้งสถานีฐานสำหรับเทคโนโลยี 5G ไปแล้วกว่า 20,000 สถานี โดยมีผู้ใช้ 5G จำนวน 4.2 ล้านคน อัตราความครอบคลุมของเทคโนโลยี 5G ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกรุงเทพมหานคร เกิน 70% นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองเทคโนโลยี 5G ชั้นนำใน 10 อันดับแรกของโลกจากองค์กรกำกับดูแลมาตรฐานการสื่อสาร (GSMA) ในขณะเดียวกัน หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อเร่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย อันได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคสาธารณสุข และภาคอุตสาหกรรมการผลิต

ภายใต้พันธกิจ “เติบโตในประเทศไทยและสนับสนุนประเทศไทย” หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และเตรียมบุคลากรด้านไอซีทีสำหรับประเทศไทยในยุคดิจิทัล ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการก่อตั้งสถาบัน Huawei ASEAN Academy (ประเทศไทย) ด้วยเงินลงทุนประมาณ 180 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนผู้มีความสามารถด้านไอซีทีจำนวน 100,000 คนสำหรับประเทศไทยภายในช่วงเวลา 5 ปี และจนถึงขณะนี้ หัวเว่ยได้จัดฝึกอบรมด้านดิจิทัลสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีไปแล้วกว่า 41,000 รายและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อีกกว่า 1,300 ราย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Seeds for the Future สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ด้านล่าง

https://www.huawei.com/minisite/seeds-for-the-future/index.html