หัวเว่ย จับมือ กระทรวงพลังงาน ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และทักษะให้ไทย สู่ผู้นำความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคอาเซียน

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการและนโยบายแผนพลังงานดิจิทัลแห่งประเทศไทย (Thailand Digital Energy Policy & Planning Workshop) ภายใต้หัวข้อ “ผลักดันเส้นทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานดิจิทัลและโครงสร้างเทคโนโลยีไอซีที สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย” (Accelerate Digital Energy and ICT Transformation Pathway towards Carbon Neutrality and Contribute to Thailand BCG Economy) โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางในการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่า 80ท่านจากประเทศไทยและประเทศจีน

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครและผ่านทั้งช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการตอบรับเป้าหมายของการผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใต้นโยบายของรัฐบาล ตามวาระการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) ภายใต้กรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ผ่านความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมโครงสร้างเทคโนโลยีไอซีทีอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

หัวเว่ย กระทรวงพลังงาน

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงพลังงานดิจิทัลในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่า “การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีไอซีทีกำลังขับเคลื่อนภาคพลังงานไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเร่งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ไปสู่เป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนงานของกระทรวงพลังงาน ตามทิศทางนโยบายภายใต้แผนพลังงานชาติ 2022 (National Energy Plan 2022) ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน ดังต่อไปนี้ 1) เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังไฟฟ้าแหล่งใหม่ โดยให้เป็นพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 2) ปรับการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานสีเขียว โดยใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้นกว่า 30% 4) ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อส่งเสริมเทรนด์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตามนโยบาย 4D1E ของกระทรวงพลังงาน”

จ้าว ไต้ชิง (Zhao Daiqing) หัวหน้าคณะนักวิจัย ศูนย์ยุทธศาสตร์พลังงานและการพัฒนาคาร์บอนต่ำแห่งสถาบันวิจัยพลังงานกวางโจว (Energy Strategy & Low-Carbon Development Center of Guangzhou Energy Research Institute) สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ร่วมแชร์แนวทางในหัวข้อต่างๆ รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 30/60 ของประเทศจีน (China 30/60 Carbon Neutrality Target) การวิจัยด้านนโยบาย(Policy Research) เส้นทางการพัฒนา(Development Path) การออกแบบ (Top Planning Design)และประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงในพื้นที่ Greater Bay Area (Practice Experience in Greater Bay Area)โดยเธอกล่าวว่า “สถาบันวิจัยพลังงานกวางโจวแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน มุ่งเป้าวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงนโยบายด้านอุตสาหกรรม เราหวังจะได้ร่วมมือกับมันสมองในแวดวงอุตสาหกรรม และผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยในการวิจัยนโยบายเพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมพลังงาน”

อุตสาหกรรมพลังงานจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดความท้าทายที่ตามมาจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ดิจิทัล และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ทั้งอุตสาหกรรมจะต้องหันมาให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพลังงานดิจิทัล ซึ่งถือเป็นรากฐานของโลกดิจิทัล ระหว่างการงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการและนโยบายดังกล่าว หัวเว่ยได้แบ่งปันความรู้และกรณีศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอซีทีในอุตสาหกรรมพลังงาน

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้ำว่า “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งโอกาสอันยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ พลังงานดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในระยะเวลา 30ปีข้างหน้า เราจะยังคงใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุด ประกอบกับประสบการณ์อันเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรม มาช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานดิจิทัลและความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะแบ่งปันความเชี่ยวชาญและแนวทางผ่านกระทรวงพลังงานแห่งประเทศไทย และให้การสนับสนุนในฐานะพาร์ทเนอร์ที่พึ่งพาได้ สู่แผนความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย”

“ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้กลายเป็นมติเอกฉันท์และเป็นภารกิจของทุกประเทศทั่วโลก นวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการไปสู่เป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หัวเว่ยส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัล มุ่งมั่นในการผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาพลังงานสะอาดและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานดิจิทัล ส่งเสริมการปฏิวัติพลังงาน รวมไปถึงการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสดใส” ดร. ฟาง เหลียงโจว รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัทหัวเว่ย ภาคส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัล กล่าวเสริม

การที่ประเทศไทยจะก้าวไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้นั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานดิจิทัลเป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานผ่านนวัตกรรม จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ชาญฉลาดในด้านการผลิต การส่งผ่าน การกระจาย การกักเก็บ และการใช้พลังงาน ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน