กสศ., ยูเนสโก และพันธมิตรด้านการศึกษา ประชุมเร่งหาทางออกฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จับมือ ยูเนสโก และพันธมิตรด้านการศึกษา  จัดงานประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งหาทางออก ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียน พร้อมจับมือผู้นำการศึกษา 11 ประเทศ ผลักดันแนวทางสนับสนุนศักยภาพครู  

ในวันที่สถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดตัวลง การจัดการศึกษาทางไกลในยุคโควิด-19 อาจทำให้เด็กนักเรียนกว่าหลายล้านคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผลจากการสำรวจจากธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 สร้างผลกระทบให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ โดยการปิดสถานศึกษาส่งผลให้เด็กกว่า 369 ล้านคน จากจำนวนประชากรเด็ก 375 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบ ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีเด็กที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 50 ล้านคน  

กสศ. เดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรทางการศึกษา ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย  องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) และ Save the Children เปิดเวทีระดมมุมมองและความคิดเห็นในระดับภูมิภาคในงาน “การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  

Save the Children

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาการศึกษาที่น่ากังวลที่สุดคือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ โดยหากขาดการเรียนการสอนไปนานขึ้น ทักษะที่หายไปจะเป็นทักษะด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และที่สำคัญคือทักษะการอยู่ร่วมในสังคม และผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาของเด็กรองจากพ่อแม่คือคุณครู ครูหนึ่งคนอาจสอนเด็กได้นับหมื่นคน ดังนั้น ครู คือบุคคลที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ในปัจจุบันเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น บทบาทของครูได้เปลี่ยนไป หากเด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ครูจะต้องเป็นผู้ที่เข้าหาเด็ก นำการเรียนรู้ไปให้ โดยในงานประชุมครั้งนี้ เราจะได้เห็นตัวอย่างที่น่าสนใจของแต่ละประเทศในการปรับตัวและพัฒนาการเรียนการสอนในยุคโควิด-19 ผ่านการพัฒนาครู”

จากข้อมูลชี้ชัดว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาทางไกลทำให้ความรู้ของเด็กสูญหายไปราว 50% หรือเท่ากับเวลาประมาณครึ่งปี โดยในประเทศไทย มีเด็กไทยเพียงแค่ 57.8% ที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และในบรรดาเด็กนักเรียนที่ยากจนที่สุด มีเพียง 57% เท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ขณะเดียวกัน ในประเทศอินโดนีเซีย เด็กกว่า 34.5% ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกล และในช่วงที่สถานศึกษาปิดตัวลงหรือปรับไปเป็นรูปแบบออนไลน์ นักเรียนฟิลิปปินส์อย่างน้อย 1.1 ล้านคนไม่ได้ลงทะเบียนในปีการศึกษาล่าสุดที่ผ่านมา ดังนั้น โจทย์ข้อใหญ่ในการจัดงานประชุมครั้งนี้คือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของ “ครู” เพื่อหาทางออกถึงการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาท่ามกลางความท้าทายในยุคโควิด-19 ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับท้องถิ่น 

ทั้งนี้ การประชุมจัดขึ้นในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2564 โดยการประชุมวันที่ 29 ตุลาคม จะเริ่มด้วยพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ให้กับสุดยอดครูทั้ง 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อ
วงการศึกษา และทรงปาฐกถาพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคเรื่อง “การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  

สำหรับวันที่ 30 ตุลาคม  จะเป็นเวทีระดมผู้นำทางนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ครูดีเด่นจากประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อสำคัญ อาทิ  บทเรียนที่ได้จากการทำงานของประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในช่วง COVID-19 กรณีศึกษาและนวัตกรรมทางการศึกษา  วิธีการรับมือกับความรู้ถดถอยของนักเรียน ระบบสนับสนุนครูเพื่อรับมือกับปัญหา กลยุทธ์การจัดการวิกฤตการเรียนการสอนระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ เช่น การเรียนการสอนในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย พื้นที่สงคราม  หรือพื้นที่วิกฤตที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียน
การสอน การสนับสนุนครูอย่างเป็นระบบผ่านสถาบันพัฒนาครูของประเทศสิงคโปร์ รวมถึงมุมมองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social-emotional learning) ประเด็นการศึกษายุคใหม่  

การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”   จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญเพื่อหาทางออกต่อผลกระทบทางการศึกษา การฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย   พร้อมกำหนดแนวทางขับเคลื่อนนโยบายหนุนเสริมศักยภาพครูของทั้ง 11 ประเทศ ต่อไป โดยงานประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2564 โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุม ได้ที่  www.afe2021.eef.or.th