ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ ปรับข้อมูล ระบุ COVID-19 แพร่กระจายทางอากาศแบบ airborne ได้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ระบุว่า SARS-CoV-2 ไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรค COVID-19 เป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายทางอากาศ (airborne) และติดต่อทางของเหลวในระบบทางเดินหายใจเป็นละอองละเอียดที่ปล่อยออกมาระหว่างหายใจ

นี่เป็นการแก้ไขข้อมูลไกด์ไลน์สาธารณะเกี่ยวกับ COVID-19 โดยหน่วยงานการแพทย์ชั้นในอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแพร่เชื้อของ SARS-CoV-2 ว่าไวรัสตัวนี้สามารถแพร่กระจายในอากาศได้ โดยการอัปเดตข้อมูลตัวไกด์ไลน์ในครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาเกือบเดือนหลังจากมีรายงานในวารสารทางการแพทย์ของ Lancet อ้างว่ามีหลักฐานชัดเจนและพิสูจน์ได้ว่าไวรัส COVID-19 สามารถแพร่กระจายทางอากาศแบบ airborne ได้

คนเราสามารถปล่อยสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจออกมาระหว่างหายใจ ไม่ว่าจะเป็น การหายใจเบาๆ การพูด การร้องเพลง การออกกำลังกาย การไอและจามเป็นต้น โดยคำแนะนำฉบับปรับปรุงบนเว็บไซต์ของ CDC ระบุว่าไวรัสที่ไปกับละอองเหล่านี้สามารถแพร่กระจายการติดเชื้อได้

หน่วยงานทางการแพทย์กล่าวว่าของเหลวในระบบทางเดินหายใจที่ถูกปล่อยออกมานั้นสามารถเกาะอยู่บนพื้นผิวใกล้เคียง หรือสามารถลอยไปในอากาศได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบละอองใหญ่หรือเล็ก อนุภาคของมันสามารถลอยไปตามอากาศได้อย่างรวดเร็วในไม่กี่วินาที ยิ่งอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก มันสามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นชั่วโมง

CDC ยังตั้งข้อสงสัยว่าการติดเชื้อจากการสูดดมละอองดังกล่าวในระยะทางที่มากกว่า 6 ฟุต จากแหล่งที่มานั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนผู้ติดเชื้อที่หายใจในสถานที่ปิด (indoor) เช่น บ้าน/อาคาร เป็นเวลานานๆ อาจส่งผลให้ไวรัสในอากาศในสถานที่นั้นมีความเข้มข้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่อยู่ห่างกัน 6 ฟุตนั้นติดเชื้อได้

COVID-19 is airborne

ผู้เชี่ยวชาญ 6 คนจากสหรัฐอเมริกา , สหราชอาณาจักร และแคนาดา วิเคราะห์กันว่ามาตรการด้านสาธารณสุขนั้นมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสและเชื้อโรคสามารถแพร่ไปตามอากาศได้ จึงล้มเหลวและไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสทางอากาศได้

Jose-Luis Jimenez จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ในอเมริกากล่าวว่า มีหลักฐานจำนวนมากที่สนับสนุนเรื่องความสามารถในการแพร่กระจายทางอากาศของไวรัส เป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนคำอธิบายของการแพร่เชื้อให้เป็นไปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาวิธีในการลดการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ

นอกจากนี้ รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลและอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า พวกเราต้องเปลี่ยนความเชื่อเดิมก่อนหน้านี้ที่ว่า เชื้อไวรัสกระจายไปกับหยดน้ำลาย (droplet) และจะตกพื้นในระยะประมาณแค่ 1.5 เมตร ระหว่างคนสองคน ให้เข้าใจเสียใหม่ว่าเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายทางอากาศได้ไกลกว่านั้น หากลอยอยู่ในอากาศเป็นช่วงเวลานานๆ เพราะมันถูกทำให้อยู่ในรูปแบบของละอองลอย (aerosol) ที่แขวนลอยในอากาศ

ต่อไป เรื่องการระบายอากาศ (ventilation) เป็นเรื่องใหญ่และจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากไม่แพ้เรื่องการใส่หน้ากากอนามัย เพราะการมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี จะช่วยระบายอากาศและลดความเข้มข้นของเชื้อโรคที่อยู่ในพื้นที่แบบปิดลงได้

สิ่งที่ทุกคนควรทำในตอนนี้ คือ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเท

ที่มา : Business Today | Jessada Denduangboripant
รูปจาก : AAQR | NIH