เสาสัญญาณมือถือ อันตรายต่อสุขภาพ จริงหรือ? มาสรุปให้หายสงสัย ไม่ต้องวิตก!

อีกความกังวลที่มีคนถามมายังทีมงานล้ำหน้าฯ อยู่บ่อยครั้งว่า เสาสัญญาณมือถือ อันตรายต่อสุขภาพ มีผลทำให้เป็นมะเร็งหรือก็ให้เกิดโรคร้ายแรง ฯลฯ เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร? สรุปแล้วว่าอันตรายจริงๆ หรือเป็นแค่ความกลัวที่คนพูดต่อๆ กันมา

ทีมงานล้ำหน้าฯ เราไปสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ให้กระจ่างกัน

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงข่ายสัญญาณโทรคมนาคม ที่มีความครอบคลุมได้เกือบเต็มพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างทั่วถึง และตอนนี้ เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง 5G ก็เดินหน้าขยายสัญญาณครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง ในระดับที่ว่า ก้าวล้ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน

เสาสัญญาณมือถือ อันตรายต่อสุขภาพ

ซึ่งการจะขยายการครอบคลุมของสัญญาณ การตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือ จึงต้องมีการตั้งในเขตที่อยู่อาศัย และชุมชน เพื่อให้ผู้ใช้บริการในบริเวณนั้น สามารถรับส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้อย่างชัดเจน

บ่อยครั้ง ผู้คนในชุมชนก็รู้สึกหวาดกลัวว่า อุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ดูแล้วน่าจะมีกำลังที่แรง มาตั้งอยู่ใกล้ๆ บ้านของตนเอง คลื่นสัญญาณนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอะไรกับสุขภาพหรือไม่ ต้องบอกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ว่าเป็นทั่วโลก

เมื่อปีที่แล้ว ในประเทศอังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป เกิดเหตุการณ์ประชาชน เข้าไปเผาทำลายเสาสัญญาณ 5G เพราะว่ามีการส่งต่อข้อความบอกว่า คลื่น 5G เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของ COVID-19 แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย

เสาสัญญาณมือถือ อันตรายต่อสุขภาพ
ความหวาดกลัวจาก Fake News ทำให้คนเผาเสาสัญญาณ 5G เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ให้ COVID-19 ระบาด

และไม่นานมานี้ ก็มีการส่งข้อความต่อๆ กันบอกว่า ให้ระวังไม่ให้อยู่ใกล้หรือออกกำลังกายใกล้เสาสัญญาณ 5G เพราะอาจจะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายแล้วว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ต้นเหตุของความกลัว “สัญญาณมือถือ” คืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ

มองย้อนไปในอดีต จะพบว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเสาสัญญาณมือถือที่ผู้คนหวาดกลัว แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ แล้ว คือความกังวลเกี่ยวกับ “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” ที่ย้อนกลับไปในปี 2522 (ประมาณ 40 กว่าปีก่อน) มีผลงานวิจัยของนักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ในสหรัฐอเมริกา ทำการสำรวจและพบว่า เด็กที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าในเมืองเดนเวอร์ มักจะป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในอัตราที่สูงกว่าปกติถึง 1.5 เท่า

ผลสำรวจนี้สร้างความตระหนกตกใจ และหวาดกลัวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นมาทันที เพราะถ้าเป็นจริง คนที่ทำงานในโรงไฟฟ้า, คนที่อาศัยใกล้ๆ หรือคนที่ใช้อุปกรณ์ที่รับส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งสิ้น

นักวิทยาศาสตร์หลายคนในยุคนั้น จึงเริ่มตื่นตัวขึ้นมาพิสูจน์เพื่อยืนยันและคัดค้านผลสำรวจชิ้นนี้ เพราะมันสร้างความหวาดกลัวอย่างเป็นวงกว้าง และกระทบกับการดำรงชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2538 องค์การ National Academy of Sciences ของสหรัฐฯ ได้ให้นักวิทยาศาสตร์หาข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 500 ชิ้น และทดลองเป็นเวลา 3 ปี จนได้ข้อสรุปว่า “สนามแม่เหล็กไฟฟ้ามิได้มีอิทธิพลสูงพอที่จะทำให้คนเป็นมะเร็งได้”

เสาสัญญาณมือถือ อันตรายต่อสุขภาพ

แต่ว่า ก็มีข้อมูลอีกชิ้น ที่มักจะถูกหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างว่า สัญญาณโทรศัพท์มือถือมีผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ นั้นคือ เมื่อปี พ.ศ. 2554 หน่วยงานวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลก หรือ International Agency for Research on Cancer : IARC ได้จัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (คลื่นวิทยุ) อยู่ในตัวกระทำที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง กลุ่ม 2B เป็นกลุ่มเดียวกับพวก ผักดอง น้ำมันเบนซิน และไอระเหยของน้ำมันเบนซินที่มีผลอาจเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดโรงมะเร็ง

ถึงอย่างไรก็ตาม ในเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ก็มีการศึกษาวิจัยกันเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ยังไม่พบหลักฐานที่เพียงพอที่จะสรุปว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐาน หรือ เสาสัญญาณมือถือ มีผลกระทบหรือเป็น อันตรายต่อสุขภาพ

ล่าสุด ในปี พ.ศ. 2561 ทาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ทำจดหมายไปถึง องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสอบถามประเด็นความปลอดภัยจากคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งสัญญาณผ่านสถานีฐาน โดยทาง ดร.อีมิลี ฟาน เดเวนเตอร์ หัวหน้าคณะรังสีวิทยา องค์การอนามัยโลก ทำหนังสือตอบกลับมา ยืนยันว่า ผลการศึกษาช่วงระยะ 10 ปี ระหว่างปี 2539-2549 ระบุไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ได้ว่า การส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ระหว่าง 0-300 กิกกะเฮิร์ตซ์ จากสถานีฐานและการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ

โดยในปี 2553 คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้ศึกษากรณีการส่งคลื่นสัญญาณเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสถานีฐานก็ยังไม่พบหลักฐานว่าคลื่นความถี่มีผลต่อสุขภาพ หลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกยังศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายกับการปล่อยคลื่นความถี่จากอุปกรณ์ไร้สายและสถานีส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ ก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆ อีกเช่นกัน

เสาสัญญาณมือถือ อันตรายต่อสุขภาพ

ข้อเท็จจริง ที่ยืนยันได้ว่า เสาสัญญาณมือถือ ไม่ส่งผล อันตรายต่อสุขภาพ

ทาง กสทช. เคยเผยแพร่ข้อมูลว่า ในประเทศไทย มีเรื่องราวของการร้องเรียนเรื่องสุขภาพ โดยอ้างว่าสาเหตุมาจาก เสาสัญญาณมือถือ ของสถานีส่งสัญญาณ อาทิ ปวดศีรษะ, หน้ามืด อ่อนแรง ไปจนถึงผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วแท้ง หรือแม้แต่การเป็นมะเร็ง โดยร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น สื่อสาธารณะ ศาลปกครอง

ในความเป็นจริงแล้ว ทาง กสทช. มีการออกประกาศ เพื่อบังคับใช้ตามมาตรฐานการส่งสัญญาณคลื่นความถี่ของ 1998 ICNIRP ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล ในการกำกับการปล่อยคลื่นความถี่ รวมถึงจำกัดความแรงของคลื่นที่สถานีฐานปล่อยออกมา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่หลายประเทศทั่วโลกใช้ รวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และ องค์กรอนามัยโลก เลือกใช้

โดยค่ามาตรฐานสากลของ ICNIRP กำหนดเอาไว้คือ

  • คลื่นความถี่ 950 MHz ต้องมีค่าไม่เกิน 4.5 วัตต์ ต่อ ตารางเมตร
  • คลื่นความถี่ 1800 MHz ต้องมีค่าไม่เกิน 9.0 วัตต์ ต่อ ตารางเมตร
  • คลื่นความถี่ 2,100 MHz ต้องมีค่าไม่เกิน 10.0 วัตต์ ต่อ ตารางเมตร

ล่าสุด ในช่วงปีงบประมาณ 2562-2563 สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้ออกสำรวจค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ เพื่อตรวจสอบว่าเกินกว่าค่าที่มาตรฐาน ICNIRP กำหนดไว้หรือไม่

โดยทำการตรวจในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ 50 เขต, อำเภอเมืองในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด และ อำเภอเมืองในเขตจังหวัดภาคกลาง 16 จังหวัด รวมทั้งหมด 2,217 สถานี

พบว่า ค่าสูงสุดที่วัดได้ ในช่วงคลื่นความถี่ 950-2300 มีค่าอยู่ระหว่าง 0.000255-001776 วัตต์ ต่อ ตารางเมตร เท่านั้น

จากผลการสำรวจนี้ ถือว่าเป็นค่าที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่จะก่อให้เกิดอันตรายถึง 500-1,000 เท่า จึงพอจะเป็นคำตอบได้ว่า เสาสัญญาณมือถือ จะไม่ส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจนทำให้เกิด อันตรายต่อสุขภาพ ของประชนที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานีฐานอย่างแน่นอน

สรุป

จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์และอนามัยโลก มีการศึกษา วิจัย และหาข้อมูลที่มายืนยันได้ว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ส่งออกมาจากสถานี เสาส่งสัญญาณ ไม่ได้ส่งผล อันตรายต่อสุขภาพ หรือเป็นเหตุทำให้เกิดโรคร้ายและอาการผิดปกติ

และในประเทศไทย กสทช. ก็เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล ตรวจสอบ อุปกรณ์สื่อสารที่ใช้คลื่นความถี่ต่างๆ ให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้มีความปลอดภัย

ที่ผ่านมา ในการร้องเรียน หรือออกมาให้ข่าวของผู้ที่ระบุว่า เสาสัญญาณมือถือ มีผลเสียต่อสุขภาพของคนที่อยู่อาศัยใกล้ๆ ก็มักจะเป็นเพียงการคาดการณ์เอง โดยหยิบยกเอาข้อมูลจากงานวิจัยเก่าในต่างประเทศ ที่มีการวิจัยใหม่หักล้างไปแล้ว หรือบางครั้งก็รับข้อมูลอันเป็นเท็จที่ส่งต่อหรือเผยแพร่ในโลกออนไลน์ จนคิดว่าเป็นอันตรายร้ายแรง

ทางทีมงานล้ำหน้าฯ เราหวังว่า การรวบรวมสรุปข้อมูลเหล่านี้ อาจจะเป็นประโยชน์ และช่วยคลายกังวลสำหรับใครที่คิดเป็นห่วงในเรื่องนี้กันอยู่นะครับ

ช้อมูลอ้างอิง : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข | กรมสุขภาพจิต | สสส. | สำนักงาน กสทช.
ภาพประกอบ : Freepik