TECH4ALL

HUAWEI x IUCN เสริมศักยภาพ หนุนความเท่าเทียมทางดิจิทัล

HUAWEI จับมือร่วมกับ IUCN ในโครงการ Tech4Nature เพื่อความเท่าเทียมทางดิจิทัลหรือ Digital Inclusion หมายถึงการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ICT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในยุค Technological Disruption ให้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ขับเคลื่อนการศึกษาแบบเรียนร่วม ด้วยเทคโนโลยี

การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นระหว่างผู้ที่เชื่อมต่อออนไลน์และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีนักเรียนนักศึกษากว่า 1,600 ล้านคนจาก 106 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนชั่วคราว ทำให้ช่องว่างของระบบการศึกษาทั้งด้านความเท่าเทียมและคุณภาพการศึกษารุนแรงยิ่งขึ้น

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว HUAWEI ได้จัดทำโครงการ TECH4ALL ที่มุ่งขับเคลื่อนความเท่าเทียมและคุณภาพการศึกษาผ่านเทคโนโลยี โดยในประเทศจีน หัวเว่ยได้ริเริ่มความร่วมมือ Learn Anytime Education Alliance ที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านการศึกษากว่า 100 ราย เพื่อให้นักเรียนนักศึกษากว่า 50 ล้านคนสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์และโซลูชันเพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเป็นหนึ่งในสมาชิกหลักของ “กลุ่มพันธมิตรทางการศึกษาระดับโลก (Global Education Coalition)” ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย UNESCO ได้ร่วมกับกระทรวงการศึกษาของประเทศเซเนกัลและผู้ให้บริการโครงข่าย Sonatel ในการช่วยเหลืออาจารย์ในพื้นที่ต่างๆนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบันทึกเทปคอร์สเรียน

นายเควิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของหัวเว่ย กล่าวว่า “ปัจจุบัน UNESCO และหัวเว่ย ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบ Open School System ซี่งประกอบด้วยเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการมีส่วนร่วม ความเท่าเทียม ทั้งยังมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับการทำงานได้แม้อยู่ในสถานการณ์วิกฤติ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวในประเทศอียิปต์ เอธิโอเปีย กานา และในอีกหลายประเทศ”

ระบบ Open School System จะช่วยเสริมศักยภาพให้แก่ครูและนักเรียน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเรียนรู้เชิงดิจิทัลทั้งในและนอกโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ทวีปแอฟริกาก้าวข้ามความท้าทายด้านการศึกษา และมั่นใจได้ว่าการเรียนรู้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน

เทคโนโลยีเพื่อโลกที่ดีกว่า

นายจาง ซินเซิ่ง ประธานแห่งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ได้กล่าวในงานประชุมสุดยอด Powering Digital Inclusion with Technology ประจำปี 2020 ว่า “หากเทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสมและชาญฉลาด จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับรับมือและแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยังยืน” ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยส่งเสริมให้การอนุรักษ์ธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือการสร้างระบบสังเกตการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมตั้งแต่ทรัพยากรในอากาศไปจนถึงทรัพยากรธรณีในพื้นที่ขนาดใหญ่ ณ อุทยานเสือและเสือดาวแห่งชาติประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน (The Northeast Tiger and Leopard National Park) โดยนวัตกรรมโครงข่ายโซลูชันเทคโนโลยี 4G ของหัวเว่ยได้รองรับระบบดังกล่าวในด้านการส่งต่อข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ถิ่นที่อยู่อาศัย และการแทรกแซงจากมนุษย์แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์สามารถรับข้อมูลและนำไปวิเคราะห์จากระยะไกลได้ โดยข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาวิเคราะห์ประชากรและสถานะของถิ่นที่อยู่อาศัย ชนิดของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้จัดการอุทยานแห่งชาติอีกด้วย

จากประเทศคอสตาริกามาจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ หน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านการดูแลรักษาป่าดิบชื้นและป่าฝนอย่าง Rainforest Connection (RFCx) ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ของหัวเว่ยและโทรศัพท์รุ่นเก่ามาปรับใช้เพื่อปกป้องป่าดิบชื้น โดยโทรศัพท์เหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานโดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์และถูกเรียกว่า “ผู้พิทักษ์ (Guardian)” ซึ่งจะนำไปติดตั้งในป่าดิบชื้น เพื่อตรวจจับเสียงของเลื่อยยนต์และรถบรรทุกที่ใช้ลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผืนป่าเป็นอย่างดี

นอกจากนี้  นายเควิน จาง ได้กล่าวสุนทรพจน์เชิญชวนเหล่าพาร์ทเนอร์ต่างๆ ร่วมสนับสนุนความเท่าเทียมทางดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆ ในโครงการ TECH4ALL มากขึ้น เพื่อไม่ให้มีใครต้องถูกทิ้งไว้ด้านหลังท่ามกลางโลกดิจิทัล