ความจำเป็น 8 ประการ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ ในช่วง โควิด-19

Google แนะนำ ความจำเป็น 8 ประการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ในช่วงโควิด-19 ความจำเป็นในช่วงก่อนโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และความจำเป็นใหม่กำลังเกิดขึ้นมา

ทีม Next Billion Users ของ Google เผยผลการศึกษาในหัวข้อ “New Internet Users in a COVID-19 World” (ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ในยุคโควิด-19) ซึ่งระบุถึงความจำเป็น 8 ประการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ (New Internet User) ทั้งความจำเป็นที่มีอยู่ก่อนหน้าและความจำเป็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 

  1. เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
  2. ใช้อินเทอร์เน็ตให้คุ้มค่ามากขึ้น
  3. สนับสนุนการศึกษาของเด็ก
  4. ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ
  5. หาตัวเลือกบริการด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้
  6. รักษาสุขภาพจิต
  7. หาทางเชื่อมสู่บริการออนไลน์
  8. หานิวนอร์มัลในยุคโควิด-19 

#1: เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย

รายได้กำลังหดตัวในขณะที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โควิด-19 ทำให้หลายคนต้องตกงาน จากผู้เข้าร่วมให้ข้อมูลจากบราซิลและเม็กซิโกส่วนมากต้องเผชิญกับการตกงานหรือรายได้ที่ลดลงเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19

โดยที่ราคาสินค้าโดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่มีความผันผวนบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความลำบากให้กับผู้ที่มักซื้อสินค้าในจำนวนน้อยแต่ซื้อบ่อยๆ  และอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการกรอกแบบฟอร์มในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น กฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน และการโดนหักค่าหัวคิว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ต้องเผชิญความท้าทายทั้งในด้านการรับรู้และความรู้ด้านดิจิทัลในการเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือ

#2: ใช้อินเทอร์เน็ตให้คุ้มค่ามากขึ้น

รายได้ที่น้อยลงหมายถึงการตัดสินใจที่ยากขึ้น สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ นี่มักหมายถึงการใช้อินเทอร์เน็ตให้น้อยลง

  • อาหารและที่พักสำคัญกว่าอินเทอร์เน็ต : ด้วยรายได้ที่น้อยลง ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นก่อน แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นความต้องการพื้นฐานอย่างหนึ่งในปัจจุบัน แต่ก็ยังจำเป็นน้อยกว่า บางคนถึงขั้นยอมประหยัดค่าอาหารเพื่อที่จะได้มีเงินจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต
  • เวลาที่มากขึ้น และสมาชิกในครอบครัวอยู่บ้านกันมากขึ้น : ปริมาณอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน YouTubeโซเชียลมีเดีย และแอปส่งข้อความถูกนำมาใช้แทนชุมชนท้องถิ่น ห้องเรียน และอื่นๆ
  • ผลกระทบต่อการความพร้อมในการใช้งานอินเทอร์เน็ต : ในอินเดีย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงล็อกดาวน์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่หลายคนมักเดินทางไปเติมเงินเพื่อซื้ออินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง ในเม็กซิโก ลำพังแค่มีเงินพอจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องยากแล้ว มีเพียง 2 ใน 9 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นประจำ ในบราซิล ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ส่วนมากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐ

#3: สนุบสนุนการศึกษาของเด็ก

แอปส่งข้อความที่เป็นที่นิยมในประเทศต่างๆ ได้กลายมาเป็นห้องเรียนใหม่ และค่าอินเทอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนค่าเทอม

  • อินเทอร์เน็ตที่จำกัดสำหรับการเรียนออนไลน์ : เนื่องจากอินเทอร์เน็ตที่ถูกนำมาใช้เพื่อการศึกษานั้นมีจำกัด จึงไม่ค่อยมีเหลือไว้สำหรับการท่องโลกออนไลน์ ทั้งที่จริงแล้วการท่องโลกออนไลน์อาจนำไปสู่การค้นพบเครื่องมือการศึกษาใหม่ๆ เช่น แอปสำหรับการฝึกอ่านออกเสียงของ Google ที่ชื่อว่า Read Along นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านอินเทอร์เน็ตแล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ส่วนมากไม่ตระหนักถึงคุณค่าที่พวกเขาอาจได้รับจากบริการต่างๆ ของ Google
  • แอปส่งข้อความคือห้องเรียนใหม่ : ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่อาศัยบริการต่างๆ ที่พวกเขาคุ้นเคยในการตอบสนองความต้องการของตนเองในช่วงโควิด-19 แอปส่งข้อความอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการบางอย่างได้เท่าที่ควร แต่พวกเขาไม่รู้จักทางเลือกอื่น
  • ผู้ปกครองต้องสอนแทนครู : ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่กังวลว่าลูกๆ ของตนกำลังได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแย่ลงกว่าแต่ก่อน และหลายๆ คนไม่มีความรู้ด้านดิจิทัลหรือความรู้ในบางวิชาที่จะช่วยเหลือเรื่องการบ้านของเด็กๆ ได้ 

#4: ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ

เป็นเรื่องจริงไหม? เป็นทฤษฎีสมคบคิดหรือเปล่า? มีผลต่อฉันอย่างไรบ้าง?

  • ข้อมูลที่ขัดกัน : ข้อความจากรัฐบาล องค์กรท้องถิ่น เพื่อน โซเชียลมีเดีย กลุ่มศาสนา มักไม่ตรงกัน ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่รู้สึกสับสนและไม่มั่นใจ การคัดกรองข่าวปลอมนั้นทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อข่าวที่ได้รับมาจากแหล่งที่น่าไว้ใจเช่นครอบครัว
  • ผู้ไม่หวังดีต้องการเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส : การหลอกลวงและการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ นั้นเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในตัวสถาบันที่สำคัญๆ เช่น รัฐบาล และโรงพยาบาล 
  • Google มักไม่ถูกมองเป็นแหล่งที่ไว้ใจได้ : ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ยังคงอาศัยแหล่งข่าวสารเดิมๆ (โซเชียลมีเดีย ทีวี วิทยุ) ไม่ต่างจากก่อนเกิดโควิด-19 พวกเขาไม่ตระหนักถึงคุณค่าของ Google ในการรับรองความถูกต้องของข่าว

#5: หาตัวเลือกบริการด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้

ความกลัว ความไม่แน่นอน การขาดการรับรู้ และความไม่ไว้วางใจในผู้อื่น ทำให้หลายคนไม่ยอมเข้ารับการรักษา

  • การเข้าถึงที่จำกัดและความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการแพทย์ทางไกล : อัตราการค้นพบเครื่องมือออนไลน์ที่ต่ำ ข้อจำกัดด้านอินเทอร์เน็ต และความท้าทายในการรับรู้ หมายถึงการพึ่งพาการรักษาแบบดั้งเดิมที่ต้องพบแพทย์แบบตัวต่อตัวที่มากขึ้น
  • การไม่ทราบถึงราคาและทางเลือกของการรักษา : ไม่มีแหล่งข้อมูลกลางเรื่องการแพทย์ การให้บริการที่กระจายตัวทำให้ตัวเลือกบริการด้านสุขภาพนั้นยากที่จะค้นพบและถูกเลือกใช้
  • ผลประโยชน์แบบก้าวกระโดดด้วยความรู้ด้านดิจิทัล : ผู้ที่มีความรู้ด้านดิจิทัลในระดับสูงสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการป้องกันโควิด-19 การรักษาความสะอาด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทำให้เห็นถึงประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในการชะลอการระบาดของโควิด-19 

#6: รักษาสุขภาพจิต

ความเหนื่อยล้าจากโควิด-19 นั้นมีอยู่จริง เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตให้น้อยลง พวกเขาจะเลิกเสพหรือลดความบันเทิงลง โดยเฉพาะในเม็กซิโก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่กำลังหันไปพึ่งแหล่งความบันเทิงที่ราคาถูกกว่า เช่น ทีวีและวิทยุ

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่อาศัยเครือข่ายที่อยู่รอบข้าง เช่น เพื่อนบ้าน หรือโบสถ์ สำหรับแรงสนับสนุนด้านจิตใจ พวกเขาใช้วิทยุเพื่อฟังการเทศนา หรือส่งข้อความอธิษฐานผ่านทาง Facebook ในช่วงโควิด-19

และโควิด-19 ทำให้หลายๆ คนต้องเปลี่ยนแผนในชีวิตหรือชะลอแผนการบางอย่าง เช่น การซ่อมหรือตกแต่งบ้าน ความเครียดจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่มีกะจิตกระะใจทำเรื่องเหล่านี้

#7: หาทางเชื่อมสู่บริการออนไลน์ที่จำเป็น

บางรัฐบาลได้ย้ายบริการที่จำเป็นบางอย่างไปให้บริการบนออนไลน์เท่านั้นนี่ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพจากข้อจำกัดทางอินเทอร์เน็ต

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่หลายคนไม่ได้ลงทะเบียนไว้บนฐานข้อมูลออนไลน์ บางคนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นประจำ ทำให้พวกเขาพลาดสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือ

ผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยังต้องผ่านด่านด้านความรู้ดิจิทัลอีกต่อหนึ่ง มันอาจเป็นเรื่องน่ากลัวถ้าจะต้องเข้าไปใช้เว็บไซต์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐ ทำให้พวกเขายิ่งคิดกันเองไปใหญ่ว่า “อินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสำหรับฉัน”

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่มักพึ่งพาคนอื่นในการแก้ไขปัญหา เช่น การโทรไปคอลเซ็นเตอร์ หรือเดินทางไปพบพนักงานรัฐด้วยตัวเอง แต่ในช่วงโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ช่วยอะไรพวกเขาไม่ได้ 

#8: หานิวนอร์มัลในยุคหลังโควิด-19

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่มักมีทรัพยากรน้อยกว่าในการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับอาชีพการงาน การสื่อสาร และวิถีชีวิต

ผุ้คนต่างมีความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่มากเกินไป  เพราะโควิด-19 ทำให้แต่ละวันต้องคิดแต่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่หลายคนจึงไม่มีเวลาจะมาคิดและวางแผนอนาคต อีกทั้งทรัพยากรดิจิทัลยังคงเข้าถึงยาก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ที่ตระหนักถึงผลกระทบระยะยาว (เช่น การตกงานเป็นเวลานาน) ไม่รู้จักทรัพยากรดิจิทัลต่างๆ ที่จะช่วยให้พวกเขารับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้