Facebook จ่อดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลไทย ที่บีบบังคับให้ปิดกั้นกลุ่ม รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส

Facebook วางแผนดำเนินการทางกฎหมายต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทย ที่บีบให้บริษัทบล็อคและปิดกั้นกลุ่ม รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส ใน Facebook ที่อ้างว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศ

สำนักข่าว CNN รายงานแถลงการณ์จากโฆษกของ Facebook ที่ส่งมายัง CNN Business ว่า หลังจากมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้ว Facebook ได้พิจารณาแล้วว่า ทางบริษัทถูกบีบบังคับให้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่โพสต์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศไทยในกลุ่ม Royalist Marketplace บน Facebook ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มกว่า 1 ล้านคน โดยรัฐบาลไทยอ้างว่าผิดกฎหมาย

รอยเตอร์เป็นสำนักข่าวแรกที่รายงานข่าวเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงกลุ่ม รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส ไปแล้วก่อนหน้านี้

Facebook กล่าวว่าพวกเขาอยู่ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาลไทย ที่มีการปิดกั้น/จำกัดคำพูดเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศ โดยรัฐบาลขู่ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับตัวแทนของ Facebook ในประเทศไทย

นอกจากนี้ Facebook กำลังพิจารณาเรื่องการดำเนินการทางกฎหมายโดยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยร้องขอมานั้นมันรุนแรงและขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีผลกระทบต่อความสามารถในการแสดงออกของประชาชน การที่บริษัทตัดสินใจจะดำเนินการทางกฏหมาย เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทุกคน

ทั้งนี้ ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

กลุ่ม รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส ใน Facebook ก่อตั้งโดยคุณปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ตัวคุณปวินเองยังไม่มีการให้ความเห็นใดเกี่ยวกับเรื่องนี้กับทาง CNN แต่บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า Facebook กำลังร่วมมือกับระบอบเผด็จการเพื่อขัดขวางประชาธิปไตย อีกทั้งยังปลูกฝังความเป็นเผด็จการในประเทศไทย

Update: ล่าสุดมีคำแถลงการณ์ของเฟซบุ๊ค ผ่านทางจดหมายประชาสัมพันธ์ส่งให้กับสื่อมวลชนในประเทศไทย เกี่ยวกับกรณีนี้ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

คำแถลงการณ์

“หลังจากที่ Facebook ได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้ว เราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินงานของ Facebook มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน และขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้ การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ Facebook ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Facebook” ตัวแทนจาก Facebook กล่าว

ข้อเรียกร้องของรัฐบาล

  • ประเด็นด้านเสรีภาพในการแสดงออกและกฎระเบียบที่ว่าด้วยการแสดงออกถือเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนมากที่สุดและมีความสำคัญสำหรับเราในฐานะที่เป็นองค์กร โดยเป็นหัวข้อที่ต้องอาศัยการหาความสมดุลที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งระหว่างการช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความคิดอย่างเสรีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม
  • เมื่อเราได้รับคำขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานทางกฎหมายให้จำกัดการเข้าถึงของเนื้อหา เราได้ทบทวนว่าเนื้อหานั้นขัดต่อมาตรฐานชุมชนของเราหรือไม่ หากพบว่าเนื้อหานั้นละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะลบเนื้อหาทั้งหมดออกจากแพลตฟอร์ม
  • ในกรณีที่เนื้อหานั้นไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมาย โดยกระบวนการทั้งสองขั้นตอนนี้เป็นไปเพื่อให้มั่นใจว่าคำขอนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเนื้อหานั้นมีการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นจริง และเราอาจจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้นๆ ในประเทศที่ระบุว่าขัดต่อกฎหมาย โดยในประเทศไทย คำขอเหล่านั้นได้ถูกดำเนินการในรูปแบบคำสั่งศาลที่มีการยื่นคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • เราดำเนินการอย่างโปร่งใสในการแจ้งถึงจำนวนเนื้อหาที่เราจำกัดการเข้าถึง โดยอิงจากกฎหมายท้องถิ่นในประเทศ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่รายงานเพื่อความโปร่งใส ซึ่งได้รับการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ทุกๆ 6 เดือน

ที่มา : CNN | จดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ Facebook