จุฬาฯ จับมือ หัวเว่ย ยกระดับงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ด้วยเทคโนโลยี 5G Cloud AI

วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ หัวเว่ย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ยกระดับงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ด้วยเทคโนโลยี  5G, Cloud, AI เสริมศักยภาพการศึกษายุคดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรม ด้วยเทคโนโลยี 5G, AI และ Cloud โดยความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเร่งขับเคลื่อนสู่การนำประเทศไทยปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันอย่างสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น 

ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การผนึกความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงปฎิบัติการร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน และเป็นบริษัทผู้นำเทคโนโลยีด้าน 5G, Cloud และ AI ระดับโลก ด้วยว่าจากศาสตร์ความรู้ที่สะสมมายาวนานหลายทศวรรษของทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จะถูกเสริมศักยภาพให้สูงมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของบริษัทหัวเว่ย จะช่วยเป็นการต่อยอดผลงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ

โดยเฉพาะการพัฒนาระบบหุ่นยนต์และระบบควบคุมอัตโนมัติ รวมไปถึงเนื้อหาเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบโลกจำลองเสมือนจริง (Virtual Reality) หรือระบบ VR ซึ่งโครงการความร่วมมือนี้จะสามารถนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้และยกระดับการศึกษาด้านเทคโนโลยีให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล กล่าวคือสามารถช่วยทำให้เหล่าหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการของคณาจารย์และนิสิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พัฒนาต่อยอดให้มีความอัจฉริยะภาพมากขึ้น

หรือเป็นหุ่นยนต์กลไกสมองอัจฉริยะ AI ที่พร้อมด้วยระบบสื่อสาร 5G ที่เราจะสามารถผลิตใช้งานได้เองในประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนี้จะถือได้ว่าเป็นผลงานนวัตกรรมที่มูลค่าและมีประโยชน์การใช้งานมากมาย จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์จริงและตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยและสังคมโลก ที่กำลังปรับเปลี่ยนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันอย่างสมบูรณ์แบบในระยะเวลาไม่นานนี้  ทั้งนี้ ถือได้ว่า โครงการนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมอีกระดับหนึ่งให้แก่นิสิตและนักวิจัยมุ่งไปสู่โลกนวัตกรรมแห่งอนาคตด้วย”

มร. แม็ค หม่า รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งสำคัญในครั้งนี้ ระหว่างหัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่น 5G และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันวิจัยพัฒนาและสถาบันการศึกษาของประเทศไทย โดยหัวเว่ยพร้อมให้การสนับสนุนอุปกรณ์ เทคโนโลยี การอบรม และทำงานร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G, Cloud, AI มายกระดับด้านการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนความสามารถด้านนวัตกรรมของไทย ผ่านการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศที่สำคัญ”

ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการวิจัยและพัฒนาระบบหุ่นยนต์และระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาคอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถนะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการพัฒนาเนื้อหาโลกจำลองเสมือนจริง (Virtual Reality) หรือ VR เพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ช่วยสร้างประสบการณ์ผู้เรียนให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่เข้าใจยากได้แบบเสมือนจริง การนำเทคโนโลยี 5G, Cloud และ AI ของหัวเว่ยมาประยุกต์ใช้ ภายใต้บันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี จะช่วยเสริมศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรมดังกล่าวให้สามารถควบคุมทางไกล ส่งข้อมูลและประมวลผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ก่อนที่จะประเมินผลเพื่อพัฒนาในแขนงอื่นๆ ต่อไป

นอกเหนือจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำงานร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างต่อเนื่อง โดยการนำผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นระดับโลกมาร่วมทำงานและจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ความชำนาญให้กับคณาจารย์ นิสิต และนักวิจัยอย่างใกล้ชิด เพื่อขยายศักยภาพงานด้านวิชาการโดยใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ