หัวเว่ย และ สอศ. จัดฝึกอบรม 5G เสริมความรู้ พัฒนาทักษะคณาจารย์สายอาชีวะ

หัวเว่ย ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดฝึกอบรม 5G มุ่งพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกเสริมความรู้ให้แก่คณาจารย์ไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ คณาจารย์กว่า 21 คนจากสถาบันการศึกษาในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วมการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G กับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยจัดอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมหัวเว่ย ประเทศไทย นับเป็นก้าวแรกของความร่วมมือเชิงลึกระหว่างหัวเว่ย และ สอศ.

การฝึกอบรมครั้งนี้ออกแบบมาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ให้กับคณาจารย์ของ สอศ. ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการวางมาตรฐานของข้อกำหนดกฎเกณฑ์ 5G ความคืบหน้าของอุตสาหกรรม พัฒนาการของระบบ E2E เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย 5G สถาปัตยกรรมของระบบเครือข่าย เครือข่ายที่เน้นด้านการบริการ และเทคโนโลยีสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย

การอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายลู่ อวี่ รอง ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโทรคมนาคมของ หัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ดร.ชมพูนุช บัวบังศร ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิดพร้อมหารือเชิงลึกเกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรในระดับอาชีวศึกษา การพัฒนาทักษะของคณาจารย์ และการลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจอีกด้วย

นายลู่ อวี่ รอง ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโทรคมนาคมของหัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การฝึกอบรมครั้งนี้จะส่งมอบข้อมูลล่าสุดของอุตสาหกรรม 5G เคสผู้ใช้งานต่างๆ พัฒนาการของระบบเครือข่าย และเทคโนโลยีสำคัญต่าง ๆ ในอนาคต โดยหัวเว่ย จะเดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลไทยและพันธมิตรต่าง ๆ ในการจัดทำหลักสูตรการอบรมแบบเปิด หลักสูตรออนไลน์ การอบรมพัฒนาทักษะ และการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับข้าราชการ บริษัทสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และนักเรียนนักศึกษา เพื่อเสริมสร้างบุคลากรด้านไอซีทีในประเทศไทยต่อไป”

หัวเว่ย Huawei Office of the Vocational Education Commission 5G

ด้าน ดร.ชมพูนุช บัวบังศร ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ในนามของ สอศ. ขอขอบคุณหัวเว่ยที่จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ขั้นพื้นฐานให้แก่คณาจารย์ของ สอศ. ในยุคที่เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไอซีที จึงต้องติดตามเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดอยู่เสมอ ซึ่งคณาจารย์ที่เข้าร่วมจะสามารถนำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้มาพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร และส่งมอบองค์ความรู้ดังกล่าวสู่นักศึกษาอาชีวะของเราได้”

ด้วยแนวทางเพื่อสร้างการเรียนรู้อันครอบคลุมของหัวเว่ยที่มีกว่า 3,000 หลักสูตร ผู้อบรมอาวุโสกว่า 1,200 คน และระบบองค์ความรู้ Praxis & Global intelligence ของหัวเว่ย จะช่วยสนับสนุนสถาบันอาชีวศึกษากว่า 23 แห่ง ในการพัฒนาหลักสูตรไอซีทีมาตรฐานอุตสาหกรรมและหลักสูตรเชิงเทคนิคล้ำสมัยให้กับนักเรียนนักศึกษาไทย เพื่อการเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง