AIS เดินเครื่อง ภารกิจ “5G สู้ภัยโควิด-19” แบบไม่ถอย สนับสนุน รพ.จุฬาภรณ์ เป็นต้นแบบการรักษาผ่าน 5G

AIS แจ้งเกิด 5G เพื่อการแพทย์ ช่วยคนไทย ก้าวผ่านวิกฤต เดินเครื่องผนึก ชู รพ. จุฬาภรณ์ เป็นต้นแบบแห่งการรักษาพยาบาล ช่วยลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คนไทย

เดินหน้าภารกิจเร่งด่วน AIS 5G สู้ภัยโควิด-19 ต่อเนื่อง นำเครือข่าย 5G อัจฉริยะ เสริมศักยภาพวงการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยผนึก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมพัฒนา 5G Total Telemedicine Solutions เพื่อสนับสนุนบริการทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยกเป็น โรงพยาบาลต้นแบบแห่งการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี 5G รายแรกของไทย โดยผสมผสาน 5G ในทุกมิติของการให้บริการทางการแพทย์ ด้วยนวัตกรรม 5G Robotics หุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วย, ระบบประมวลผล AI อัจฉริยะบน 5G เพิ่มขีดความสามารถเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ช่วยให้การวินิจฉัยโรคเร็วขึ้นหลายเท่าตัว, Telemedicine ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือ ปรึกษาหมอออนไลน์จากที่บ้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตลอดจนนำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และการวิจัยพัฒนาในอนาคต ตอกย้ำแนวคิด “5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต” ลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คนไทย เข้าถึงบริการทางการแพทย์แบบเท่าเทียม พลิกโฉม สร้าง New Normal วงการแพทย์ ยกระดับสาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืน

ais-5g-pccms-covid-19-ai-chulabhornhospital
AIS 5G PCCMS covid-19 AI Chulabhornhospital

ทั้งนี้ 5G Total Telemedicine Solutions เพื่อสนับสนุนบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย

1. นำ 5G สนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผล AI อัจฉริยะสำหรับเครื่อง CT Scan ปอด บนเครือข่าย 5G เครื่องแรกของไทย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง CT Scan ให้สามารถส่งภาพปอดที่มีไฟล์ขนาดกว่า 300 MB ขึ้นไปประมวลผลผ่านระบบ AI-assisted Medical Imaging Solutions for COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดย ระบบ AI จะทำการเปรียบเทียบภาพปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศจีนและไทยที่มีอยู่จำนวนหลายเคส บน Cloud Computing 

และประมวลผลว่าปอดของผู้ป่วยคนนี้ มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และอยู่ในระยะไหน ซึ่งให้ผลแม่นยำถึง 96% และช่วยลดเวลาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 วินาทีเท่านั้น ทำให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การรักษาพยาบาลที่รวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ เครือข่าย 5G ยังมีประโยชน์ที่เด่นชัดอย่างมากในด้าน Mobility ซึ่งหากมีการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปใช้งานในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่สามารถลากสายไฟเบอร์ออฟติกได้เข้าไปปล่อยสัญญาณได้ ก็สามารถใช้เครือข่าย 5G ได้แทน

2. ส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการดูแลพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ, เทคโนโลยี 3D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ, Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่าน Video Call

เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้องใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ทำงานบนเครือข่าย 5G ภายใต้ระบบประมวลผล AIS Robot Platform ซึ่งเอไอเอสพัฒนาขึ้นเอง ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง และสามารถ Customized ให้ตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละโรงพยาบาล โดยจะถูกนำไปใช้งาน ณ หอผู้ป่วยในของผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

AIS 5G PCCMS covid-19 AI Chulabhornhospital

3. สนับสนุนสมาร์ทดีไวซ์ (Device), เครือข่าย (Network) และแอปพลิเคชัน (Application) แบบครบวงจร เพื่อเสริมประสิทธิภาพบริการปรึกษาแพทย์ทางไกล ด้วยระบบ Video Call ซึ่งถูกนำไปใช้งานที่ศูนย์บริการ COVID-19 Call Center ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์  โดยร่วมกับแอปพลิเคชัน “ME-MORE” (มีหมอ) ซึ่งเป็นแอปฯ พบแพทย์ออนไลน์ ที่ให้คนไข้หรือผู้สงสัยว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกลจากที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

เพียงลงทะเบียนผ่านแอปฯ ME-MORE จากนั้นระบบจะจัดสรรคิวในการพบและพูดคุยกับแพทย์ พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลรักษาได้ทันที ในกรณีที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ก็จะทำการนัดเข้ามาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งในอนาคต ยังสามารถขยายผลไปสู่การดูแลรักษาโรคอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบได้อีกด้วย

4. นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยสร้างห้องเรียนอัจฉริยะเพื่อเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาคณะต่างๆ ทั้งการเรียนในห้องเรียนที่มี Social Distancing และการเรียนออนไลน์สำหรับนักศึกษา รวมทั้งการฝึกปฏิบัติแบบเรียลไทม์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะช่วยประเมินการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และนักศึกษาอีกด้วย