หัวเว่ยไม่แคร์ โดนสหรัฐฯแบน เผยมีแผนสำรองพัฒนาระบบ OS ของตัวเองรอไว้ตั้งแต่ปี 2012

สถานการณ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กับ หัวเว่ย มาถึงจุดแตกหักรุนแรง เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศให้หัวเว่ยติดอยู่ใน Black List ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นง และสั่งห้ามบริษัทเอกชนของสหรัฐ ทำธุรกิจกับหัวเว่ย ส่งผลให้ Google และอีกหลายบริษัท ต้องประกาศยุติสัมพันธ์ทางการค้ากับทางหัวเว่ย

ทำให้หลายคนเป็นห่วงเกี่ยวกับอนาคตในการดำเนินธุรกิจของ Huawei ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะการที่ Google ตัดสัมพันธ์ทางการค้า ส่งผลให้สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของหัวเว่ย ไม่สามารถใช้งาน Google Service ต่างๆ ได้

ย้อนกลับไปสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแบนหัวเว่ย ในวันเสาร์ที่ผ่านมา เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวจากญี่ปุ่น โดยบอกว่า

“เราได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว”

ตอนนี้ หัวเว่ย เอง ถือเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่พวกเขาก็ยังจะเป็นต้องพึ่งพาผู้ผลิตชิ้นส่วนจากอเมริกาอยู่ด้วย

แต่ถ้าเทียบสัดส่วนแล้ว ชิ้นส่วนที่หัวเว่ยซ์้อจากซัพพลายเออร์จากสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากทั้งหมด 6.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากนี้หัวเว่ย จะยังคงพัฒนาชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ด้วยตัวเอง หรือหาจากผู้ผลิตรายอื่นมาทดแทน

การกดดันจากรัฐบาลสหรัฐครั้งนี้ หัวเว่ย มองว่าจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มาก

“ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดไว้ เรื่องนี้อาจจะมีผลกระทบทำให้ การเติบโตของหัวเว่ยชะลอตัว แต่ก็เพียงเล็กน้อย” คุณ เหริน เจิ้งเฟย ให้สัมภาษณ์กับทาง The Nikkei

การกีดกันของทางรัฐบาลสหรัฐครั้งนี้ มาจากที่ หัวเว่ย ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ ตามคำร้องขอของสหรัฐอเมริกา และไม่ยอมให้ทางสหรัฐเข้ามาตรวจสอบ เหมือนกับที่ ZTE เคยโดนมาก่อน

กรณีก่อนหน้านี้ ZTE เกือบจะต้องล่มสลาย หลังจากที่บริษัทถูกแบน หลังจากถูกตัดสินกรณีมีการติดต่อซื้อขายกับอินหร่านและเกาหลีเหนือ จนสุดท้าย ZTE ถูกบีบจนต้องจ่ายค่าปรับมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐและให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาเข้าตรวจสอบ

มีแผนสำรองพร้อมไว้แล้ว พัฒนาระบบปฏิบัติการเพื่อเอาไว้ใช้เอง

การที่ต้องจบสัมพันธ์ทางการค้ากับ Google นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของหัวเว่ย และหัวเว่ยก็เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้มาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ย้อนไปในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คุณ Richard Yu ประธานฯ หัวเว่ยได้เผยข้อมูลว่า ทางบริษัทได้พัฒนาระบบปฎิบัติการของตัวเอง เพื่อเอามาใช้งานแทนระบบ Android ของ กูเกิ้ล และ Windows ของ ไมโครซอฟท์

ระบบปฏิบัติการที่ทางหัวเว่ย ซุ่มพัฒนาอยู่นั้น เป็นโครงการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2012 หรือเกือบ 7 ปีที่แล้ว ข้อมูลจากทาง Huawei Central ระบุว่า ระบบปฏิบัติการนี้มีชื่อว่า “Hong Meng” ซึ่งยังไม่ระบุแน่ชัดว่าเป็นชื่อจริงๆ หรือว่าเป็นเพียงแค่โค้ดเนมรหัสการพัฒนา

หัวเว่ย

ความเห็นจากทีมงาน ล้ำหน้าโชว์

เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการโทรคมนาคมของโลกก็ว่าได้ เพราะ Huawei นั้นถือเป็นบริษัทชั้นนำ มียอดขายสมาร์ทโฟนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ขายได้มากกว่า 200 ล้านเครื่องต่อปี การที่ถูกกีดกัน จนต้องหาทางออกด้วยการพัฒนาระบบขึ้นมาเอง เป็นสิ่งที่ท้าทาย และน่าติดตาม ว่าหัวเว่ยจะเดินเกมต่อไปอย่างไร

ข้อมูลเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการใหม่ของหัวเว่ย ที่จะนำมาใช้แทน Android นั้นจะเป็นอะไร แต่เชื่อว่าน่าจะใช้เป็น Android Open Source Project (AOSP) ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส เพื่อที่ว่าจะยังสามารถดัดแปลง และทำให้รองรับกับแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันได้

ในอดีตนั้น ก็เคยมีสมาร์ทโฟนที่เป็น AOSP เช่นกัน นั่นคือ Nokia X แต่ว่าตอนนั้นการพัฒนาเป็นไปค่อนข้างล่าช้า ตามสภาพองค์กรของ Nokia ยุคนั้น ที่เป็นช่วงท้ายก่อนจบสัญญากับทาง Microsoft

แต่ก็มีคนที่เอา AOSP ไปพัฒนาและใช้งานแบบไม่ต้องง้อ Google ก็คือ Amazon ที่ทำ Fire OS สำหรับแท็บเล็ตและ Set Top Box ทีวีเป็นของตัวเอง โดยมีระบบแอปสโตร์ของตัวเอง ส่วนแอปพลิเคชั่นหลายๆ ตัวก็สามารถปรับปรุงการใช้ Google Service ไปเป็นเซอร์วิสอื่นก็สามารถใช้งานได้

Huawei ที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ Google และพัฒนาสมาร์ทโฟนบนระบบ Android มาอย่างยาวนาน ชนิดที่ว่าหลายอย่างที่หัวเว่ยทำ ช่วยให้ Google เอาไปพัฒนา Android ให้ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เชื่อว่าหัวเว่ยจะเผยรายละเอียดเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการใหม่ออกมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานทั่วโลก เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไป ส่วนใครที่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยอยู่แล้ว ก็ยังไม่ต้องตื่นตระหนก ตอนนี้ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ข้อมูลจาก : Business Insider | Channel News Asia | Huawei Central