แบบทดสอบเช็ค ภาวะซึมเศร้า เช็คว่าคุณเสี่ยงจะเป็น โรคซึมเศร้า หรือไม่?

คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดหน้าแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อเช็คว่า คุณเข้าข่าย ภาวะซึมเศร้า หรือมีแนวโน้มจะเป็น โรคซึมเศร้า หรือไม่? ด้วยการแบบสอบถามสั้นๆ แค่ 9 ข้อ

แบบสอบถาม ภาวะซึมเศร้า PHQ-9 กับการทำแบบสอบถาม 9 ข้อ เช็คดูว่า เสี่ยงจะเป็น โรคซึมเศร้า หรือไม่?

แบบทดสอบออนไลน์เช็ค ภาวะซึมเศร้า เช็คว่าคุณเข้าข่ายหรือไม่?

สามารถเข้าไปทำแบบสอบถาม เพื่อตรวจเช็คได้ที่ med.mahidol.ac.th/depression_risk

ในหน้าของแบบสอบถามนั้น จะมีคำถามทั้งหมดด้วยกัน 9 ข้อ ที่ให้ตอบเกี่ยวกับอาการในช่วง 2 อาทิตย์ผ่านมา อาทิ ความเบื่อ, นอนไม่หลับ, เหนื่อยง่าย, เบื่ออาหาร, สมาธิไม่ดี, คิดจะทำร้ายตัวเอง ฯลฯ โดยจะมีให้เลือกเป็นคะแนน ลำดับตั้งแต่ ไม่เลย = 0, มีบางวันหรือไม่บ่อย = 1, มีค่อนข้างบ่อย = 2, มีเกือบทุกวัน = 3

เมื่อตอบครบทั้งหมด ก็จะมีการประเมินคะแนน ว่าเรานั้นเข้าข่ายอยู่ใน ภาวะซึมเศร้า หรือไม่? โดยจะมีคำแนะนำเบื้องต้น หรือว่าจำเป็นต้องพบแพทย์ โดยคะแนนที่ได้จากการทดสอบ จะแบ่งเป็นช่วงดังนี้

  • ระดับคะแนนช่วง 0 – 4 = คุณไม่มีอาการซึมเศร้า ไม่ต้องรักษา
  • ระดับคะแนนช่วง 5 – 8 = คุณมีอาการซึมเศร้าเล็กน้อย ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้ได้ 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย พบปะเพื่อนฝูง ควรทำแบบประเมินอีกครั้งใน 1 สัปดาห์
  • ระดับคะแนนช่วง 9 – 14 = คุณมีอาการซึมเศร้าปานกลาง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้ได้ 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย พบปะเพื่อนฝูง ควรขอคำปรึกษาช่วยเหลือจากผู้ที่ไว้วางใจ ไม่จมอยู่กับปัญหา มองหาหนทางคลี่คลาย หากอาการที่ท่านเป็นมีผลกระทบต่อการทำงานหรือการเข้าสังคม (อาการซึมเศร้าทำให้ท่านมีปัญหาในการทำงาน การดูแลสิ่งต่างๆ ในบ้าน หรือการเข้ากับผู้คน ในระดับมากถึงมากที่สุด) หรือหากท่านมีอาการระดับนี้มานาน 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการช่วยเหลือรักษา
  • ระดับคะแนนช่วง 15 – 19 = คุณมีอาการซึมเศร้าระดับรุนแรงค่อนข้างมาก ควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและให้การรักษา ระหว่างนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้ได้ 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายเบาๆ ทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย ไม่เก็บตัว และควรขอคำปรึกษาช่วยเหลือจากผู้ใกล้ชิด
  • ระดับคะแนนช่วง 20 – 27 = คุณมีอาการซึมเศร้าระดับรุนแรงมาก ต้องพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและให้การรักษาโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

แบบประเมินนี้พัฒนาจาก แบบสอบถามสุขภาพผู้ป่วย (Patient Health Questionnaire: PHQ-9) ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล และคณะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี การประเมินนี้เป็นการประเมินระดับภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น ส่วนการวินิจฉัยนั้นจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงส่งตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน รวมถึงเพื่อแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็นจากสาเหตุต่างๆ ได้มากมาย เช่น โรคทางจิตเวชอื่นที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย โรคทางร่างกายเช่นโรคไทรอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือเป็นจากยาหรือสารต่างๆ

ผลการประเมินและคำแนะนำที่ได้รับจากโปรแกรมนี้จึงไม่สามารถใช้แทนการตัดสินใจของแพทย์ได้ การตรวจรักษาเพิ่มเติมหรือการให้ยารักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการปรึกษากันระหว่างแพทย์และตัวท่าน