ดีแทค คลื่น 1800 MHz

ดีแทคยื่นประมูล คลื่น 1800 MHz ไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เผยคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต คลื่น 1800 MHz เพื่อให้บริการโทรคมนาคมต่อสำนักงาน กสทช. แต่ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลอย่างถี่ถ้วนและมีผลสรุปจะที่ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz หลังจากที่ กสทช ได้ประกาศปรับเงื่อนไขกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz ให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เข้าประมูล และยังช่วยส่งเสริมการแข่งขันในการประมูลด้วย

ดีแทคมีความพยายามที่จะจัดหาคลื่นความถี่ 1800 MHz มาใช้งานเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ดีแทคยังได้เตรียมมาตรการต่างๆ รวมถึง การบังคับใช้แผนความคุ้มครองลูกค้าในช่วงหลังสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ดีแทคไม่เพียงแต่มีแผนที่จะนำ คลื่น 1800 MHz ที่เราตัดสินใจเข้าประมูลครั้งนี้มาใช้ให้บริการ 2G อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับฐานลูกค้าที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังมุ่งมั่นที่จะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายบริการ 4G ตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ ดีแทคประกาศไม่เข้าร่วมการประมูลและจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลในเงื่อนไขที่ระบุเพิ่มในประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ (IM) อันจะส่งผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินงานและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ชนะประมูล

คลื่น 1800 MHz

โดยประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ระบุให้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนั้น กสทช. ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีจะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter)  ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรก ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของผู้ชนะใบอนุญาตคลื่น 900 MHz

“ดีแทคยังคงเดินหน้าเจรจากับ กสทช เรื่องมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้าดีแทค หลังจากสิ้นสุดสัมปทานระหว่างดีแทค และ CAT ในวันที่ 15 กันยายน 2561  ดีแทคได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช อย่างเคร่งครัดที่จะให้บริการอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าจำนวนมากที่ยังคงใช้งานอยู่บนคลื่น 850 MHz และ1800 MHz เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกค้า โดยถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างดีแทค และ กสทช ที่จะดำเนินตามแผนคุ้มครองลูกค้า ตามที่ กสทช ได้เคยดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานที่ผ่านมา โดยตามหลักการนั้น มาตรการคุ้มครองลูกค้าให้ใช้งานบนคลื่นความถี่จะมีผลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้ผู้บริการรายใหม่” นายลาร์ส กล่าว

ดีแทค คลื่น 1800 MHz

ดีแทค ไตรเน็ตยื่นประมูลใบอนุญาต คลื่น 1800 MHz

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์, ดร. รวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย และ นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ พร้อมด้วย นายสิรวิชญ์ กลับดี ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่สำนักงาน กสทช. โดยได้จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ตามขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อขอรับการพิจารณาเข้าร่วมประมูลตามที่สำนักงาน กสทช. จะจัดประมูลขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 นี้