ลาร์ส นอร์ลิ่ง lars norling ดีแทคแจง กสทช. เลื่อนประมูล ไม่กระทบการใช้งานลูกค้า

ดีแทค แจงไม่ยื่นประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz มั่นใจให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แจงไม่ยื่นประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ทั้งนี้ ดีแทคยังให้ความสำคัญแผนคุ้มครองลูกค้าใช้งานมือถือหลังหมดสัมปทาน จะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่กระทบการใช้งานตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการรายอื่น พร้อมมุ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการจัดสรรคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low-band spectrum) ในอนาคต

ดีแทค แจงไม่ยื่นประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz มั่นใจถือครองคลื่นย่านความถี่สูงมากพอ

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  กล่าวว่า “ดีแทคได้พิจารณาการเข้าร่วมประมูลอย่างรอบคอบ โดยมีข้อสรุปถึงการถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มีปริมาณมากพอที่จะรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต โดยการประมูลในครั้งนี้คงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว ดีแทคมั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอที่จะรองรับการเติบโตการใช้งานดาต้าของลูกค้า และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อไม่กระทบการใช้งานจากกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่”

dtac 1800 MHz

ดีแทคมีคลื่นย่านความถี่สูงปริมาณมากเพียงพอ

ปัจจุบัน ดีแทคได้ถือครองความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และมีคลื่นใหม่ความถี่ 2300 MHzจำนวน 1x60MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHzและสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทคยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าอีกเดิม 10 MHz จากคลื่นใหม่2300 MHz ที่จะนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง

dtac 1800 MHz

ทั้งนี้ คลื่น 2300 MHz ได้ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD เพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันมานิยมการรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนหลายชั่วโมงต่อวัน

ถึงแม้ว่าดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 MHz ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 MHz และ 1.99 MHz)

dtac 1800 MHz

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย ดีแทคยังเร่งขยายสถานีฐานอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา โดยมีการขยายเพิ่มสถานีฐาน 3G/4G บนโครงข่าย 2100 MHz จำนวน 4,000 แห่งต่อปีในช่วง 2560-2561 ซึ่งขยายรวดเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ดีแทคยังรุกขยายสถานีฐานสำหรับการใช้งานบนคลื่นความถี่2300MHz dtac TURBO ด้วยเทคโนโลยี 4G TDD ให้ได้อีกอย่างน้อย 4,000 แห่งในปีนี้ตามข้อตกลงกับทีโอที และหากดีแทคสามารถทำได้เต็มกำลังการติดตั้งสถานีฐานคาดว่าจะขยายได้มากถึง 7,000 แห่งในปลายปีนี้

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการคลื่นย่านความถี่ต่ำ (LOW-BAND SPECTRUM)

จากที่ประเทศไทยมีคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) รองรับบริการ ดีแทคขอย้ำว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยในขณะนี้ต้องการคลี่นความถี่ต่ำ (low-band spectrum) มากกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน การสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการและปัญหาเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ประเทศไทยยังขาดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ต่ำที่จะมาให้บริการ

dtac 1800 MHz

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดกับดักต้นทุนของคลื่นความถี่ที่สูงระดับโลก เมื่อรวมกับข้อกำหนดกรณีผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต หรือ N-1  จะนำประเทศไปสู่สภาวะขาดคลื่นความถี่เพื่อนำมาใช้งาน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศไทยจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่สูงกว่าแต่กลับได้ใช้งานความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ช้ากว่าประเทศอื่น การตั้งหลักเกณฑ์ที่ไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนคลื่นความถี่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ช้าลง โดยจะส่งผลเสียต่อภาพรวมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทย

มั่นใจให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน การให้บริการมือถืออย่างต่อเนื่อง หรือ “ซิมไม่ดับ” คือหน้าที่ร่วมกันของ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในกิจกรรมโทรคมนาคม และถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกับผู้ให้สัมปทานคลื่นความถี่ พร้อมกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในการที่จะต้องให้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558  เพื่อคุ้มครองลูกค้าให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าใช้งานมือถือหลังหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

แผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานดังกล่าวที่ยื่นต่อ กสทช.  เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม จะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่กระทบการใช้งานตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการรายอื่น และยังมีลูกค้าคงค้างในระบบเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่หมดสัมปทานได้รับระยะเวลา 9-26 เดือนในช่วงเยียวยา ซึ่งได้สิ้นสุดเมื่อผู้ชนะการประมูลคลื่นได้ทำตามหลักเกณฑ์และเปิดใช้งานคลื่น ดีแทคยืนยันที่ลูกค้าจะต้องได้รับการคุ้มครองตามประกาศ กสทช. คลื่น 1800 MHz ควรนำมาสู่การใช้งานสำหรับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานจนกระทั่งผู้ชนะการประมูลได้ทำตามกฎเกณฑ์และเปิดให้บริการวันแรก สำหรับคลื่น 850 MHz ที่ไม่ได้นำไปประมูลดีแทคจะต้องได้รับสิทธิ์จนกระทั่งคลื่นได้ถูกนำไปจัดสรรให้กับผู้ได้รับอนุญาตใช้งานต่อไป

จากการที่ดีแทคได้เร่งโอนย้ายลูกค้าที่ใช้บริการ 2G และเร่งขยายโครงข่ายทั้งคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz จะเป็นมาตรการยืนยันเพื่อลูกค้าดีแทคที่ใช้งานบนทุกคลื่นความถี่ทั้ง 2G, 3G และ 4G จะมั่นใจได้อย่างเต็มที่สำหรับการใช้งานอย่างต่อเนื่องไม่มีความเสี่ยงจากซิมดับ

ดีแทคมุ่งสู่การสร้างโครงข่ายดาต้าที่ดีที่สุด

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคยืนยันเต็มร้อยที่จะสร้างโครงข่ายการใช้งานดาต้าให้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เราลงทุน 4,510 ล้านบาท ต่อปี เพื่อให้บริการคลื่น 2300 MHz ตามสัญญาทางธุรกิจและความร่วมมือกับทีโอที และดีแทคยังลงทุน 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทในการขยายโครงข่ายคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz โดยการที่เป็นพันธมิตรคู่ค้ากับทีโอทียังทำให้ดีแทคมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ สู่การให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และการร่วมเป็นพันธมิตรกับ CAT ทำให้ดีแทคได้ใช้งานเสาสัญญาณโทรคมนาคมหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน วันที่ 15 กันยายน 2561 ทั้งหมดนี้จะทำให้ลูกค้าดีแทคมั่นใจสามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องและได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดอีกด้วย”

นายลาร์ส กล่าวเพิ่มเติมว่า “ลูกค้าดีแทคมั่นใจได้ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ดีแทคมีคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มากที่สุด และเราได้เร่งสร้างโครงข่ายเพื่อการใช้งานดาต้าที่ดีที่สุดในประเทศไทยไม่ใช่แค่เพื่อวันนี้แต่เพื่อรองรับอนาคต โดยขณะนี้ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการมากที่สุด คือ การจัดสรรคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low-band spectrum) ที่มีความชัดเจน เพื่อวางแผนในการให้บริการผู้ใช้งานดาต้าได้ครอบคลุมทั้งในเมืองและทุกพื้นที่ทั่วไทย”