PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

ก้าวสู่ยุค Smart City เมื่อ กฟภ. พลิกโฉมพัทยา ให้กลายเป็นเมืองไฟฟ้าอัจฉริยะ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ได้พาทีมงานล้ำหน้าฯ ชมหลากหลายโครงการด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าสมัยใหม่ ที่พัฒนาไว้ให้คนไทยได้พร้อมรับกับยุคของ IoT งานนี้บุกไปถึงเมืองพัทยา โชว์ให้เห็นว่า เมืองอัจฉริยะ Smart City ในอนาคตเมื่อเกิดขึ้นจริงแล้วจะสุดยอดขนาดไหน!

เทคโนโลยีไฟฟ้ายุคใหม่ ใกล้กว่าที่คิด!

ทุกวันนี้มีนวัตกรรมและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบใหม่ ที่มีความชาญฉลาดมากกว่าเดิม เพิ่มขึ้นทุกวัน ตอนนี้เราสามารถเชื่อมต่อเครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, ทีวี, ตู้เย็น, ไฟส่องสว่างในบ้าน ให้ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้แล้ว บางคนอาจจะคิดว่า เทคโนโลยีพวกนี้ยังใหม่ และห่างไกลกว่าที่จะทำให้บ้านที่เราอาศัยจริงๆ เปลี่ยนระบบเป็น IoT ได้ทั้งหมด

แต่ความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว และ กฟภ. เองก็เล็งเห็นแล้วว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วทั้งประเทศไทย ไม่ใช่แค่ความสะดวกสบายเท่านั้น แต่จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้อย่างละเอียด และช่วยให้ทุกบ้านสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่า และประหยัดพลังงานได้อย่างตรงจุดอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

ดังนั้นการจะเปลี่ยนให้เมืองเป็น Smart City ไม่ใช่แค่เอาอุปกรณ์สมัยใหม่มาเปลี่ยนแทนของเดิม แต่จะต้องสร้างรากฐานสำคัญคือระบบไฟฟ้าที่จะทำให้ระบบทั้งหลาย ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทาง กฟภ. จึงเริ่มโครงการพัฒนาภายใต้นโยบาย PEA 4.0 เน้นเรื่องการสร้างระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง  พร้อมทั้งพัฒนาระบบ ICT เพื่อสร้างเป็นระบบ Smart Grid เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ทั้งหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

บ้านอัจฉริยะตัวอย่าง ที่ทาง กฟภ. สร้างเป็นห้องแล็บเพื่อพัฒนาระบบ Smart Home และทดสอบระบบต่างๆ

เปลี่ยนเมืองให้กลายเป็น Smart City ต้องมีอะไรบ้าง?

เราอาจจะเคยเข้าใจกันว่า งานของ กฟภ. คือการผลิตไฟฟ้าแล้วขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ แต่จริงๆ แล้วยังมีงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้ดีขึ้น และการจะพัฒนาเมืองให้กลายเป็นระบบอัจฉริยะได้เต็มรูปแบบ ก็มีส่วนประกอบหลายอย่างด้วยกัน เราจะแนะนำในแต่ละส่วนให้ได้รู้จักกัน

Smart Grid โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่จะเปลี่ยนทุกครัวเรือนเข้าสู่ยุค Smart City

สมาร์ทกริด เป็นการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเดิม ให้มีความฉลาดมากขึ้น เนื่องจากแหล่งพลังงานในปัจจุบันและอนาคตจะมาจากแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์, พลังลม ฯลฯ

ดังนั้นในระบบโครงข่ายไฟฟ้านอกจากไฟฟ้าของทาง กฟภ. ผลิตนั้น ยังจะมีจากแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่ประชาชนนำมาติดตั้งและจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้ามาในระบบอีกด้วย

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

สถานการณ์แบบนี กฟภ. จึงต้องนำเอาเทคโนโลยีด้าน ICT มาพัฒนาใช้ ทั้งระบบเซ็นเซอร์ ระบบเก็บข้อมูล และระบบการควบคุมอัตโนมัติเข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบไฟฟ้า เพื่อเก็บข้อมูลสถานะต่างๆ ในระบบไฟฟ้าได้มากขึ้น ว่ากระแสไฟฟ้ามาจากแหล่งใดบ้าง

ถึงจุดนี้จึงต้องมีการนำเอาอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ด้วยระบบ มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Advanced Metering Infrastructure) มาใช้งาน

Smart Meter ช่วยบอกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้อย่างที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

มิเตอร์ไฟฟ้าในความคุ้นเคยของทุกคน ก็คือมิเตอร์ที่คอยบอกปริมาณไฟที่แต่ละครัวเรือนใช้งานไป แต่ในระบบของ Smart Meter นั้น มันจะมีการเชื่อมต่อสื่อสารโดยตรงกับระบบควบคุมที่ศูนย์ของ กฟภ. คอยส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือนให้แบบ Realtime ตลอดเวลา

ประโยชน์แรกของมิเตอร์อัจฉริยะคือ เมื่อศูนย์สามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้แบบออนไลน์เรียลไทม์ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งพนักงานออกไปจดตัวเลขมิเตอร์แต่ละบ้านทุกๆ เดือนอีกต่อไป กฟภ. ก็ได้ลดต้นทุนในการปฏิบัติงานไปอีกด้วย

แต่ประโยชน์ที่แท้จริงนั้นคือ ข้อมูล Big Data ในการใช้ไฟฟ้าของประชาชนทุกครัวเรือน ทาง กฟภ. สามารถรู้สถานะได้ว่า บ้านไหนชุมชนไหนใช้ไฟเยอะ หรือเวลาเกิดเหตุขัดข้องด้านกระแสไฟฟ้า ไม่ว่าจะไฟตกหรือไฟดับ ก็จะแจ้งเตือนมายังระบบได้ทันที บางครั้งเร็วขนาดที่เจ้าของบ้านที่มีปัญหายังไม่ทันโทรแจ้ง ทาง กฟภ. ก็จะได้รับการแจ้งเตือนโดยระบบและส่งเจ้าหน้าที่ไปแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือนนั้น ตัวผู้ใช้งานแต่ละบ้านสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางระบบแอปพลิเคชั่น PEA CONNECT จากเดิมในระบบปัจจุบัน เรารู้แค่ว่าในแต่ละเดือนนั้นใช้ไฟฟ้าไปกี่หน่วย แต่เมื่อระบบเป็นแบบ Smart Grid แล้ว ระบบสามารถบอกเป็นกราฟให้เห็นได้เลยว่าในแต่ละวันช่วงเวลาไหนบ้านเราใช้ไฟฟ้ามากที่สุด และคำนวนค่าไฟฟ้าตอนนั้นให้ได้เลย

เมื่อผู้ใช้แต่ละบ้านสามารถรู้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในบ้านตัวเองได้ละเอียด ก็จะวางแผนหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อประหยัดไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง

ข้อมูลจาก Smart Meter สามารถให้เจ้าของบ้านรู้ได้ว่า ในแต่ละชั่วโมงนั้นในบ้านใช้ไฟฟ้าช่วงไหนมากน้อยกว่ากัน เพื่อที่จะได้วางแผนการใช้งานและประหยัดได้ดียิ่งกว่าเดิม

พอระบบไฟฟ้าทุกอย่างมีข้อมูลที่ละเอียดแบบเรียลไทม์ ทางรัฐก็อาจจะทำการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา โดยที่ช่วงเวลาที่คนต้องการใช้ไฟฟ้าพร้อมกันมากๆ ค่าไฟฟ้าจะสูงที่สุด ทำให้ผู้ใช้แต่ละบ้านพิจารณาลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคในแต่ละวัน ไปใช้ในช่วงที่ค่าไฟฟ้าราคาถูกกว่าแทน

ประโยชน์ในการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดลงได้นั้น คือรัฐไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อมารองรับการใช้งานช่วงพีคเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ลดต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าไปได้หลายหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

Smart Home เชื่อมต่ออุปกรณ์ในบ้าน ใช้ไฟฟ้าได้ชาญฉลาดกว่าเดิม

กฟภ. ได้พัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชน ในโครงการ Smart Home ที่วิจัยและพัฒนาโดยทีมบุคลากรของ กฟภ. ในชื่อของ “PEA Connect” แอปพลิเคชั่นเชื่อมต่ออุปกรณ IoT ภายในบ้าน ซึ่งทำงานบนระบบ PEA HiVE Platform

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

จุดเด่นของระบบที่พัฒนาขึ้นนี้คือ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้หลากหลายรุ่น หลายแบรนด์ เข้ารวมกันในระบบเดียว และยังนำเอาระบบ AI มาเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของสมาชิกภายในบ้าน เพื่อปรับแต่งระบบให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนในบ้าน

โดยทุกอย่างในบ้านที่นำมาเชื่อมต่อกับ PEA Connect ก็จะสามารถควบคุมการทำงานเปิดปิดผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ผู้ใช้ก็จะเลือกควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้อย่างสะดวกมากขึ้น เปิดปิดใช้งานตามความจำเป็น และปรับประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง

PEA HiVE ไม่ใช่แค่ใช้ควบคุมอุปกรณ์ IoT ในบ้าน แต่ยังคำนวนเรื่องกระแสไฟฟ้าที่ผลิตเองผ่านโซลาเซลล์ และคำนวนค่าไฟที่ใช้ไปในแต่ละวันได้อย่างละเอียด

PEA VOLTA เตรียมพร้อมรับกับยุคของรถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้า (Electrical Vehicle หรือ EV) เป็นอีกทางเลือกใหม่ในการใช้พาหนะเพื่อเดินทาง ที่ประหยัดพลังงานและลดปริมาณมลพิษ กฟภ. ก็เตรียมพร้อมเรื่องนี้แล้วด้วยเช่นกัน ด้วยโครงการ PEA VOLTA ที่จะเป็นระบบเครือข่ายสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

กฟภ. ได้เริ่มพัฒนาและสร้างสถานีชาร์จไฟในโครงการทั้งหมด 11 สถานีใน 9 จังหวัด ครอบคลุม 5 เส้นทางคือ สายเหนือ, สายใต้, สายตะวันออก, สายตะวันตก และสายตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบัน สถานีชาร์จไฟของกฟภ. พร้อมใช้งานแล้วจำนวน 9 สถานทีคือ สถานี กฟภ. สำนักงานใหญ่, รังสิต, นครราชสีมา, พัทยาใต้, นครชัยศรี, สมุทรสาคร, เขาย้อย, หัวหิน และพระนครศรีอยุธยา

ตัวหัวจ่ายไฟฟ้าในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ PEA VOLTA มีทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน รองรับกับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน โดยที่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการทดลองใช้ เป็นการเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

ระบบของ PEA VOLTA นอกจากจะเป็นสถานีสำหรับชาร์จไฟแล้ว ยังมีระบบการสื่อสารข้อมูลออนไลน์เข้ากับฐานข้อมูลกลางของ กฟภ. ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อใช้งานบริการได้แบบครบวงจร

  • แจ้งตำแหน่งพิกัดของสถานีอัดประจุไฟฟ้าในโครงข่ายของ กฟภ.
  • แผนที่นำทางไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุด
  • แจ้งสถานะของแต่ละสถานีว่าว่างหรือไม่
  • เมื่อจอดและชาร์จไฟ ก็แจ้งบอกได้ว่าชาร์จไฟไปได้เท่าไรและต้องชาร์จอีกนานแค่ไหนจึงจะเต็ม
  • สั่งจองคิวในการเข้าใช้บริการได้
  • ระบบชำระเงินค่าบริการ

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

สำหรับใครที่สนใจสมัครสมาชิกโครงข่าย PEA VOLTA ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Pure e-Bus ครั้งแรกกับรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้า

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

ในทริปเดินทางครั้งนี้ ทาง กฟภ. ได้พาคณะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองพัทยา ด้วยรถบัสแบบ Pure e-Bus ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ที่สามารถทำความเร็วได้เทียบเท่ากับรถโดยสารปกติ

ประสิทธิภาพของ Pure e-Bus ในการชาร์จไฟเต็ม จะวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ในการชาร์จไฟแบบปกติจะใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 10 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้เป็นระบบ Quick Charge จะใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

จุดเด่นของรถบัสแบบ Pure e-Bus คันนี้คือ ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนหลักๆ ทำได้ไม่ต่างจากรถที่ใช้น้ำมัน แต่ค่าไฟฟ้าที่ใช้นั้นประหยัดกว่าค่าน้ำมัน 50-70% และยังเป็นการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลพิษอีกด้วย

เปลี่ยนเมืองพัทยาให้สวยงาม เอาสายเคเบิ้ลไฟฟ้าลงใต้ดิน

อีกสิ่งสำคัญที่ทาง กฟภ. พัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น Smart City นอกจากนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างเป็นระบบเครือข่าย Smart Grid แล้ว การปรับภูมิทัศน์ของเมืองให้สวยงามก็เป็นสิ่งที่ กฟภ. ให้ความสำคัญด้วย

จากภาพที่เรามักจะเห็นติดตามในเขตชุมชน บนเสาไฟฟ้าจะมีสายไฟฟ้าและสายสื่อสารต่างๆ ห้อยระโยงระยาง ที่ดูแลก็บดบังทัศนียภาพสวยๆ ของเมืองไปอย่างน่าเสียดาย

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

ภาพที่เราอาจจะเห็นจนชินตา กับเสาที่มีทั้งสายเคเบิ้ลไฟฟ้าและสายสื่อสารจำนวนมาก พาดบังอยู่ริมถนน ทำให้เมืองดูรกหูรกตา

กฟภ. จึงเริ่มโครงการนำเอาสายเคเบิ้ลไฟฟ้าลงใต้ดิน ในเส้นทางสำคัญของเมืองพัทยา ที่ตั้งเป้าจะทำในเส้นทางถนนเลียบหาดเมืองพัทยาตลอดแนวพัทยาเหนือ กลาง และใต้

ในทริปนี้เราเห็นได้ชัดว่า พอเมืองท่องเที่ยวไม่มีสายไฟห้อยเกะกะ ทำให้ดูสวยงามขึ้นกว่าเดิมและดูเป็นระเบียบมากขึ้น ซึ่งในอนาคต กฟภ. ก็จะดำเนินการเอาสายไฟฟ้าในเมืองและจุดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ ลงใต้ดินเพื่อทำให้เมืองดูสวยงามน่าชมมากยิ่งขึ้น

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

สังเกตในภาพ จะเห็นมีเสาไฟฟ้ากับหม้อแปลงไฟอยู่ แต่ไม่มีสายเคเบิ้ลพาดระหว่างต้น กฟภ. ทำการเอาสายลงใต้ดิน ทำให้ภูมิทัศน์ดูสวยงาม ไม่มีอะไรมาขวางสายตา

อีกหลากหลายโครงการเครือข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ ที่ กฟภ.พัฒนาเพื่อผู้ใช้

ในทริปการไปชมเทคโนโลยีและหลากหลายโปรเจคของ กฟภ.ครั้งนี้ของทีมงานล้ำหน้าฯ ถือว่าสนุกและได้เห็นความตั้งใจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ขายไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศ แต่ยังทำโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย พร้อมรับกับสิ่งที่กำลังจะเข้ามา อาทิ

  • ระบบบ้านอัจฉริยะที่เชื่อมต่อทุกอย่างผ่านแพลตฟอร์มเดียว ให้ผู้ใช้สื่อสารสั่งงานได้ผ่านสมาร์ทโฟน หรือลำโพงอัจฉริยะ จากข้อมูลทราบว่าทาง กฟภ.กำลังพัฒนาให้ PEA HiVE Platform สามารถสั่งงานเป็นภาษาไทยได้ และใช้อุปกรณื IoT ได้หลากหลายยี่ห้อภายในเครือข่ายเดียวกัน
  • การจัดการข้อมูล Big Data ของการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ นำไปวิเคราะห์ได้อย่างเรียลไทม์ ทำให้สามารถทราบถึงความผิดปกติหรือปัญหาในระบบได้อย่างรวดเร็ว และข้อมูลการใช้งานผ่าน Smart Meter ที่ละเอียดกว่ามิเตอร์แบบเดิม ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้าน ปรับพฤติกรรมและเลือกประหยัดไฟฟ้าได้ดียิ่งกว่าเดิม
  • ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาและพัฒนาเอา Blockchain เข้ามาใช้กับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. และผู้ใช้งานไฟฟ้า ที่มีผลิตพลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

ตัวอย่างแสดงการเอา Blockchain มาใช้ทำระบบแลกเปลี่ยนพลังงานแบบเรียลไทม์ จำลองจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ใช้โซลาเซลล์ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

Blockchain ช่วยคำนวนการขายไฟฟ้าให้กับอาคารต่างๆ เพื่อแลกเป็น Coin ในระบบ

PEA Smart City Pattaya กฟภ. พัทยา

แสดงต้นทุนในการเปลี่ยนระบบของโรงเรียน เพื่อเอา IoT เข้ามาใช้เชื่อมต่อในระบบ และระบบโซลาเซลล์บนหลังค่า จะเห็นได้ว่าต้นทุนในการเปลี่ยนระบบเป็นอาคารอัจฉริยะนั้น ต้นทุนไม่ได้สูงมาก (ส่วนใหญ่ลงไปกับระบบแผงโซลาเซลล์)

เรียกได้ว่าในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เตรียมพร้อมทั้งด้านการบริหารและพัฒนาการทำงานให้ทันสมัย เพื่อสร้างเครือข่ายไฟฟ้าที่รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ให้ประชาชนได้ใช้งานกันได้เต็มประสิทธิภาพ ถ้ามีโอกาสทีมงานล้ำหน้าฯ จะเจาะลึกข้อมูลโครงการต่างๆ ที่ กฟภ. กำลังพัฒนามาเล่าให้ฟังกันอีกแน่นอน

ติดตามข้อมูลข่าวสารของทาง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ที่ www.pea.co.th และ www.facebook.com/Provincial.Electricity.Authority