ถึงคราวของ Linux ! พบช่องโหว่คล้ายกับ EternalBlue คอมพิวเตอร์นับแสนเครื่องเสี่ยงถูกแฮกได้!

ในขณะที่ผู้ใช้วินโดวส์กำลังสะพรั่นสะพรึ่งกับช่องโหว่ EternalBlue ที่ถูกใช้โจมตีโดยแรนซัมแวร์ WannaCry กันอยู่นั้น  ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการอื่นก็ยังได้แต่นั่งมองอยู่ห่างๆ

หากแต่ว่าล่าสุด  มีการค้นพบช่องโหว่ลักษณะเดียวกันกับ EternalBlue บนระบบปฏิบัติการลินิกซ์แล้ว (CVE-2017-7494) โดยช่องโหว่ดังกล่าวนั้นอยู่ในชุดซอฟต์แวร์ Samba ซึ่งถูกใช้ในการสื่อสารผ่านโปรโตคอล SMB บนลินิกซ์นั่นเอง  ซึ่งช่องโหว่ดังกล่าวนั้นกระทบตั้งแต่ Samba 3.5.0 ที่ออกมาเมื่อปี 2010 มาจนถึงเวอร์ชันล่าสุด  สิริรวมแล้วมันอยู่มานานถึง 7 ปีด้วยกัน

จากรายงานระบุว่ามีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินิกซ์กว่า 485,000 เครื่องที่เปิดใช้งานพอร์ต 445 ออกสู่อินเตอร์เน็ต  และในจำนวนนี้มีกว่า 104,000 เครื่องที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยช่องโหว่ดังกล่าว  โดยในจำนวนแสนกว่าเครื่องนี้  มีถึง 92,000 เครื่อง  ที่ใช้งาน Samba รุ่นที่หมดการซัพพอร์ตไปแล้ว  โดยเฉพาะระบบ NAS ตามบ้านผู้ใช้  ที่อาจจะไม่ค่อยได้อัพเดทซอฟต์แวร์ของ NAS สักเท่าไหร่นัก

ช่องโหว่นี้จะเปิดให้แฮ็กเกอร์สามารถอัพโหลดไลบรารี่อันตรายเข้าไปยังเซิร์ฟเวอร์ได้  จากนั้นก็เพียงสั่งให้เซิร์ฟเวอร์โหลดไลบรารี่เข้ามาในระบบด้วยโค้ดเพียงแค่บรรทัดเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ดี  ทางผู้พัฒนา Samba ได้ออกอัพเดทแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าวแล้ว  ผู้ที่ใช้ Samba ควรรีบอัพเดทให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดในทันที (รุ่น 4.6.4/4.5.10/4.4.14)

อ้างอิง – The Hacker News

ความเห็นของเรา

Samba เป็นซอฟต์แวร์ที่เปิดให้คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการอื่นนอกเหนือจากวินโดวส์  สามารถสื่อสารกับวินโดวส์ผ่านโปรโตคอล SMB ได้  ซึ่ง Samba นั้นเป็นที่นิยมใช้กันบนระบบปฏิบัติการกลุ่มยูนิกซ์ทั้งหลาย  เช่นลินิกซ์ แมค OpenVMS รวมถึง ซิสเทม 390 ของ IBM