คู่มือช่วยชีวิตเมื่อ Gadget หรือ มือถือ เปียกน้ำ !! และ ข้อควรรู้เกี่ยวกับ IP68

อุปกรณ์พกพา Gadget รวมถึงมือถือและสมาร์ทโฟน ทุกวันนี้ทุกคนต่างมีพกพาติดตัวกันคนละหลายๆ ชิ้น และสิ่งที่ไม่ถูกกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าก็คือ “น้ำ” วันนี้เราจะมาบอกเล่าถึงสิ่งที่ต้องรู้ และวิธีปฐมพยาบาลเยียวยาเบื้องต้น ในเวลาที่เกิดวิกฤติ มือถือ เปียกน้ำ จากการเล่นสงกรานต์, ตกน้ำ, โดนฝนสาด ฯลฯ

มือถือ เปียกน้ำ ถ้าไม่รุนแรงมากก็อาจจะไม่พัง

เราอาจจะไม่รู้ว่า อุปกรณ์แก็ดเจ็ท, กล้องพกพา, มือถือสมาร์ทโฟน ฯลฯ ในปัจจุบันมีมากมายหลายรุ่นที่ผลิตออกมาโดยที่มีการเคลือบสารประเภท Nanocoat บนแผงวงจรเพื่อช่วยป้องกันเรื่องของสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้าไปทำความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง อาทิ ฝุ่นในกระเป๋ากางเกง, ไอเหงื่อจากร่างกาย, ความชื้น ฯลฯ ดังนั้นบางทีการที่เปียกน้ำที่ไม่รุนแรงมาก อย่างโดนฝนปรอยๆ, พื้นที่ๆ เปียกชื้นในเวลาไม่นาน ก็อาจจะไม่เกิดผลเสียอะไร

แต่ถ้าอุปกรณ์ของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันเรื่องน้ำและฝุ่น อย่างเช่นสมาร์ทโฟนรุ่น Budget ที่ราคาไม่สูงมาก, มือถือรุ่นที่ผลิตออกมานานแล้ว และยิ่งถ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีช่องรูพอร์ทสำหรับเสียบเยอะๆ ยิ่งมีโอกาสที่น้ำหรือฝุ่นจะเข้าไปทำลายอุปกรณ์ภายในได้

ความรุนแรงของการเปียกน้ำก็มีผลเช่นกัน บางครั้งถ้าแค่น้ำสาด หรือละอองฝน อุปกรณ์หลายๆ อย่างที่ป้องกันในระดับ Splashproof ก็สามารถใช้งานได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าโดนหนักๆ อย่างตกลงไปในน้ำที่มีระดับความลึก เป็นเวลานาน คำว่านานในที่นี้ สำหรับอุปกรณ์บางชนิด แค่ 5-10 วินาทีก็ถือว่านานแล้ว

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน IP

สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนอื่นเลยก็คืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้อยู่นั้นถูกผลิตออกมาโดยมีมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันน้ำหรือฝุ่นหรือไม่ อย่างที่เราเคยได้ยินคือ มาตรฐาน IP (Ingress Protecion Ratings) คือ มาตรฐานสำหรับกำหนดประสิทธิภาพในการปกป้องและต้านทานการกระทำจากภายนอกอุปกรณ์อิเล็คทรอนิก มาตรฐานนี้ถูกกำหนดโดย European Committee for Electro Technical Standardization (CENELEC) (NEMA IEC 60529 Degrees of Protection Provided by Enclosures – IP Code)

โดยมาตรฐานจะแบ่งเป็นรหัสตัวเลข 2 หลัก ในหลักแรกจะแสดงความสามารถในการป้องกันของแข็ง แบ่งออกเป็น 7 ระดับ (X-6) ส่วนหลักที่สองจะเป็นความสามารถในการป้องกันของเหลว

IP (Ingress Protecion Ratings)

ความหมายของตัวเลขหลักแรก

0 = ไม่ป้องกันอะไรเลย
1 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 50 มิลลิเมตร เช่น การเผลอไปจับตัวกล้องด้วยมือ
2 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 12 มิลลิเมตร เช่น เผลอแตะด้วยนิ้ว
3 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีตั้งแต่ 2.5 มิลลิเมตรขึ้นไป เช่น เครื่องมือ สายไฟ
4 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไป เช่น เครื่องมือ สายไฟ และสายไฟขนาดเล็ก
5 = สามารถป้องกันฝุ่นได้เป็นส่วนใหญ่
6 = สามารถป้องกันฝุ่นได้อย่างสมบูรณ์
X = ไม่ระบุ

ความหมายของตัวเลขหลักที่สอง

0 = ไม่ป้องกันอะไรเลย
1 = สามารถป้องกันน้ำหยดใส่ได้ เช่น หยดน้ำที่เกิดจากความชื้น
2 = สามารถป้องกันละอองน้ำที่เข้ามาในมุมไม่เกิน 15 องศาจากแนวตั้ง
3 = สามารถป้องกันละอองน้ำที่เข้ามาในมุมไม่เกิน 60 องศาจากแนวตั้ง
4 = สามารถป้องกันละอองน้ำได้จากทุกทิศทาง
5 = สามารถป้องกันน้ำที่เป็นลักษณะสายน้ำไหลผ่านได้ในระดับหนึ่ง
6 = สามารถป้องกันจากน้ำที่ไหลผ่านได้ทุกทิศทาง
7 = สามารถจมในน้ำได้ลึกไม่เกิน 1 เมตร (แรงดันและเวลาที่ทนได้ต้องระบุโดยผู้ผลิต)
8 =สามารถจมในน้ำได้ลึกมากกว่า 1 เมตร (แรงดันและเวลาที่ทนได้ต้องระบุโดยผู้ผลิต)
X = ไม่ระบุ

Water Resist ไม่ใช่ Water Proof

เรื่องอุปกรณ์ที่บอกว่าตัวเองกันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP ต่างๆ แต่ถ้าหากว่าเครื่องเกิดการเสียหายจากการที่น้ำหรือความชื้นเข้าไปก็ไม่อยู่ในการรับประกัน ก็เป็นเรื่องดราม่าระหว่างผู้ใช้และผู้ผลิตอยู่บ่อยครั้ง เพราะว่าการรับประกันสินค้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขอื่นอีกหลายอย่าง และตัวเครื่องนั้นที่บอกว่าผลิตตามมาตรฐานที่ป้องกันน้ำ (Water Resist) นั้น ไม่ได้หมายถึงว่าสามารถนำไปใช้งานใต้น้ำได้ หรือป้องกันน้ำได้สมบูรณ์ (Water Proof) จะสังเกตเห็นได้ว่าหลังๆ สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่บอกว่าตัวเองเป็น IP68 ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเสนอฟีเจอร์ว่านำไปใช้งานใต้น้ำได้ แต่จะบอกในแง่ที่ว่าไม่กลัวเปียก

คำว่าเปียกน้ำได้ ก็ไม่ได้หมายถึงของเหลวทุกชนิดบนโลกนี้

มาตรฐาน IP นั้นเป็นการทดสอบในห้องแล็บ และทดสอบกับน้ำสะอาด (น้ำในสระ, น้ำประปา) ดังนั้นอุปกรณ์ที่กันน้ำในมาตฐาน IP ก็ไม่ใช่ว่าจะอมตะ รับมือกับน้ำได้ทุกประเภท เพราะน้ำในแหล่งน้ำ, น้ำทะเล, เครื่องดื่ม, น้ำมัน ฯลฯ มีคุณสมบัติทางเคมีอื่นๆ ที่อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ได้

กันน้ำแต่ว่าไม่ได้กันกระแทก!

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้น้ำเข้าไปทำลายภายในอุปกรณ์ได้แม้ว่าจะเป็นเครื่องมาตรฐาน IP ก็ตาม นั่นคือการตกกระแทก เพราะแรงกระแทกนั้นมีผลทำให้เรื่องของชิ้นส่วนภายในรวมถึงซีลในการประกอบเกิดการเสียหายและเป็นช่องโหว่ให้น้ำเข้าไปภายในได้ การกระแทกนี้ไม่ใช่เฉพาะตอนที่ตกในน้ำ บางครั้งอุปกรณ์ของเราที่เคยใช้งานปกติ แล้วเคยตกพื้นหรือมีการกระแทกอยู่ตลอดเวลา ก็อาจจะมีผลกระทบด้วยเช่นกัน

กันน้ำได้ แต่ว่าป้องกันน้ำที่มีแรงดันไม่ได้!

ตัวอย่างในมาตรฐาน IP68 ที่เป็นมาตรฐานที่ป้องกันได้สุงสุด สามารถทนแรงดันน้ำได้ลึก 1.5 เมตร นั่นหมายความว่า ถ้าอุปกรณ์ของเราถูกน้ำฉีดที่มีแรงดันมากกว่าตอนที่อยู่ใต้น้ำลึก 1.5 เมตร ก็ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยเช่นกัน

ทำอย่างไรดี เมื่ออุปกรณ์ มือถือ สมาร์ทโฟน เปียกน้ำ!

เอาล่ะ! หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐาน IP กันไปแล้ว คราวนี้ถ้าเกิดชะตาชีวิตนำพาให้เราต้องมาเผชิญสถานการณ์ที่อุปกรณ์แสนรักของเราทั้งหลายต้องเปียกน้ำ นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรตั้งสติและ “ทำทันที” ที่เครื่องเปียกน้ำ ไม่ว่าอุปกรณ์ของเราจะผลิตมากันน้ำหรือไม่ก็ตาม

เปียกปุ้บ ปิดปั๊บ ถ้าเปียกจนเครื่องดับ ห้ามพยายามเปิดเครื่องเด็ดขาด!

ไม่ว่าจะทำ มือถือ เปียกน้ำ , โดนสาดน้ำสงกรานต์, ฝนเท, โค้กหกใส่ ฯลฯ แม้ว่าตอนที่เครื่องโดนน้ำแล้วจะยังเปิดติดอยู่หรือไม่ก็ตาม คุณควรจะรีบทำการปิดเครื่องในทันที! เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลัดวงจรภายในเครื่อง

และถ้าหากว่าเครื่องเปียกน้ำจนดับไปเอง โปรดจำไว้ ห้ามพยายามกดปุ่มเปิดเครื่องอีกเป็นอันขาด รวมถึงห้ามนำไปเสียบชาร์จไฟ!! เพราะนั่นจะเป็นการเพิ่มความเสียหายให้กับเครื่อง ที่อาจจะรุนแรงถึงขั้นไฟฟ้าลัดวงจรหรือระเบิดได้

แยกชิ้นส่วน ถอดแบตเตอรี่ออก

ในกรณีที่มือถือหรืออุปกรณ์ของคุณ สามารถถอดแบตเตอรี่ออกจากตัวเครื่องได้ ให้ทำการปิดเครื่องแล้วแกะเอาแบตเตอรี่ออกจากตัวเครื่องในทันที เพื่อตัดวงจรหรือกระแสไฟฟ้าที่จะมีภายในเครื่องให้หมด แต่ถ้ามือถือเราถอดแบตเตอรี่ไม่ได้ ก็ไม่ต้องพยายาม และห้ามพยายามแกะเครื่องเองโดยเด็ดขาด เพราะนั่นจะทำให้เครื่องเสียหายและมีผลต่อการรับประกันเครื่องอีกด้วย

ทำให้แห้ง แต่ห้ามใช้ความร้อนและลมเป่า

หาวิธีทำให้น้ำที่อยู่ภายในเครื่องออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แนะนำให้ใช้วิธีเอากระดาษทิชชู่, สำลี ฯลฯ มาซับน้ำรอบๆ เครื่องที่มองเห็น และตามช่องพอร์ทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูเสียบชาร์จ, ลำโพง, ช่องหูฟัง ฯลฯ โดยให้ซับน้ำออก อย่าเขย่า และที่สำคัญ อย่าเป่าลม ไม่ว่าจะเป็นเอาปากเป่าหรือใช้ไดร์เป่าผม เพราะอาจจะทำให้น้ำไหลเข้าไปด้านในมากขึ้นกว่าเดิม

รวมถึงการใช้วิธีใช้ความร้อนเพื่อทำให้เครื่องแห้ง อย่างเช่นเอาไปตากแดด เพราะน้ำที่เข้าไปจะระเหยเป็นไอน้ำและอาจจะสร้างความเสียหายหนักกว่าเดิม และห้ามอย่างยิ่ง เอาไปใส่ไมโครเวฟเพื่อทำให้แห้ง อันนี้นอกจากจะไม่แห้งแล้ว ยังจะระเบิดอีกด้วย!! (อันนี้ไม่ได้ล้อเล่น เพราะเคยมีใช้วิธีทำมาแล้วจริงๆ)

วิธีใส่ถังข้าวสาร ใช้ได้ แต่แนะนำใช้เป็น ซิลิก้า เจล ดีกว่า

เทคนิคเอา มือถือ เปียกน้ำ สมาร์ทโฟน ตกน้ำ เอาไปหมกไว้ในถังข้าวสาร เป็นวิธีคลาสสิคที่บอกต่อๆ กันมานานนับ 10 ปี เพราะว่าข้าวสารนั้นมีคุณสมบัติในการ “ดูดความชื้น” วิธีการก็คือเอาอุปกรณ์ที่เราจัดการซับน้ำและแยกชิ้นแบตเตอรี่ออกแล้ว ใส่ในกล่องหรือถังที่มีข้าวสารอยู่ (ข้าวที่ยังไม่ได้หุงนะ) ปิดฝาให้มิดชิดทิ้งไว้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง

แต่เราไม่ค่อยอยากแนะนำให้ใช้วิธีนี้ เพราะถึงแม้ข้าวสารจะช่วยดูดความชื้นในเครื่องออกมาได้ แต่ก็เสี่ยงปัญหาเรื่องของฝุ่นละอองที่มีในข้าว เราอยากแนะนำให้คุณใช้เป็น ซิลิก้า เจล (Silica gel) หรือว่า ซองกันชื้น ที่เราจะเห็นมีอยู่ในพวกถุงขนมบางชนิด หรืออุปกรณ์ไอทีเวลาที่ซื้อมาก็อาจจะเห็นมีใส่มาให้ด้วย หากล่องที่ปิดมิดชิด ใส่ ซิลิก้า เจล ลงไป 1-2 ซอง (ใส่ทั้งซองนะไม่ต้องฉีก) เอาไว้กับมือถือเปียกชื้นของคุณ ปิดทิ้งเอาไว้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หรือถ้าอยากเอาชัวร์ๆ ก็ทิ้งเอาไว้ 12-24 ชั่วโมงเลยก็ได้

มือถือ เปียกน้ำ silica gel

มือถือ เปียกน้ำ ส่งเข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็ค

ขั้นตอนสุดท้าย ถ้าหากว่าลองถึงขั้นดูดความชื้นแล้วเครื่องก็ยังคงเปิดไม่ติด หรือว่าเปิดติดแล้วระบบการใช้งานมีความผิดเพี้ยน ถึงจุดนี้แล้วให้ปิดเครื่องแล้วนำเครื่องไปติดต่อกับศูนย์ให้บริการของอุปกรณ์นั้นๆ ของคุณเพื่อทำการตรวจเช็คหาอาการโดยละเอียด พร้อมแนวทางในการซ่อมแซมแก้ไขโดยช่างเทคนิคมืออาชีพจริงๆ


ทั้งหมดนี้เป็นความรู้และวิธีการคร่าวๆ ในการแก้ปัญหาเวลาที่อุปกรณ์ หรือมือถือของคุณตกน้ำ เปียกน้ำ ที่อาจจะไม่ต้องเสียหายจนต้องซ่อมชุดใหญ่ หรือต้องซื้อเครื่องใหม่ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ พยายามระมัดระวังไม่ให้อุปกรณ์ทั้งหลายของเราต้องเผชิญกับโอกาสที่จะโดนน้ำ โดยเฉพาะเทศกาล สงกรานต์ นั้น มีผู้ประสบเหตุมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งคนที่ไม่ได้ตระเตรียมอะไร หรือแม้แต่คนที่เตรียมถุงกันน้ำเอาไว้ แต่ดันปิดถุงไม่สนิท จากถุงกันน้ำ กลายเป็นถุงแช่น้ำซะอย่างงั้น (ฮา)