รู้หรือไม่? ในสระว่ายน้ำมี “ฉี่” ปนอยู่เท่าไหร่?

แม้ว่าในทางดาราศาสตร์ ประเทศไทยยังคงอยู่ในฤดูหนาว (ส่วนทางอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุฯ ออกมาประกาศเข้าหน้าร้อนแล้วจ้า) แต่ทุกวันนี้อากาศก็เริ่มร้อนขึ้นทุกวัน  ทางหนีร้อนที่หลายคนเลือกคงไม่พ้นการไปว่ายน้ำในสระว่ายน้ำให้เย็นชื่นใจกันเป็นแน่แท้

และหากพูดถึงสระว่ายน้ำแล้วเชื่อว่าแทบทุกคนที่เคยลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำหรือสวนน้ำต่างๆ คงต้องเคย “ฉี่” ลงไปในสระเหล่านั้นอย่างแน่นอน  คำถามคือแล้วจากคนเป็นร้อนเป็นพันที่ลงเล่นน้ำในแต่ละวัน  บวกลบคูณหารกับระบบบำบัด  จะทำให้สระว่ายน้ำเหล่านั้นเหลือฉี่ผสมอยู่เท่าไหร่?

ล่าสุดมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลเบอตาในแคนาดาพยายามหาคำตอบนี้  โดยทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างกว่า 250 ตัวอย่างจากสระว่ายน้ำและอ่างน้ำร้อนจากสองเมืองในแคนาดา  และพบผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าสะพรึงว่าเฉลี่ยแล้วในสระว่ายน้ำขนาด 830,000 ลิตร (หรือประมาณ 1/3 ของสระว่ายน้ำในการแข่งขันโอลิมปิก) มีฉี่มนุษย์ผสมอยู่ถึง 75 ลิตร! ส่วนสระที่ขนาดเล็กลงมานั้นมีฉี่มนุษย์ผสมอยู่เฉลี่ยที่ประมาณ 30 ลิตร

ทีมนักวิจัยใช้วิธีวัดปริมาณสารแอซีซัลเฟตโพแทสเซียม (acesulfame-K หรือ ACE) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ไม่ถูกดูดซึมโดยร่างกาย  และถูกขับออกมาทั้งหมดผ่านทางปัสสาวะ  ซึ่งทีมวิจัยกล่าวว่าสามารถใช้เป็นตัวตรวจจับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี  โดยทีมวิจัยพบว่าในสระว่ายน้ำนั้นมี ACE เจือปนอยู่ในปริมาณมากกว่าในน้ำประปาถึง 570 เท่า  ซึ่งนักวิจัยใช้วิธีเก็บตัวอย่างจากแต่ละสระเป็นเวลา 3 สัปดาห์  และนำมาคำนวนหา ACE ที่เจือปนอยู่ในน้ำ  และสรุปออกมาเป็นค่าเฉลี่ยของปริมาณปัสสาวะในสระ

แม้ว่าในคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง  จะขับถ่ายปัสสาวะที่ไม่เจอปนเชื้อโรคต่างๆ มากนัก  แต่ปัสสาวะก็ยังมีส่วนผสมของสารเคมีต่างๆ ที่ถูกขับออกจากร่างกาย  ซึ่งอาจจะผสมกับสารเคมีในสระว่ายน้ำและเป็นอันตรายกับเพื่อนร่วมสระได้เช่นกัน

อ้างอิง – Channel NewsAsia