Facebook อนุญาตให้ผู้ลงโฆษณาเลือกกลุ่มผู้รับโฆษณาตามเชื้อชาติ

ในสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายประเทศ  ปัญหาการเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์นับได้ว่าเป็นเรื่องรุนแรงและยังคงเกิดปัญหาจากการเหยียดนี้อยู่เรื่อยๆ มาจนถึงทุกวันนี้

ล่าสุด Facebook ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้กับผู้ลงโฆษณาที่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการเหยียดชาติพันธุ์ขึ้นมา  นั่นคือการอนุญาตให้ผู้ลงโฆษณาสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายการรับโฆษณาตามชาติพันธุ์ของผู้ใช้ได้  เช่น African-American (ผิวสี), Asian-American (กลุ่มคนเอเชียในอเมริกา  เช่นจีน เกาหลี ไทย), หรือ Hispanic (กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติสเปน  เช่นชาวเม็กซิกัน)

โดยผู้ลงโฆษณาจะสามารถกำหนดรายละเอียดเหล่านี้ได้ในส่วนของ Detailed Targeting ในเมนูการสร้างโฆษณาของ Facebook Business

screen-shot-2016-10-30-at-5-24-09-pm

หลังจากที่มีเรื่องนี้แพร่ออกไป  ทำให้นักกฎหมายทางด้านสิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกาออกมาโจมตี Facebook ในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ  พร้อมทั้งกล่าวว่า Facebook กำลังทำผิดกฎหมายของสหรัฐอเมริกา (The Fair Housing Act of 1968 ) ที่ห้ามทำการโฆษณาสินค้าหรือบริการใดๆ ด้วยเนื้อหาในเชิงการเหยียดผิว  เพศ  ชาติพันธุ์ ศาสนา สภาพร่างกาย หรือเรื่องทางครอบครัวใดๆ

อย่างไรก็ดี  ทาง Facebook ได้ออกมาตอบโต้ว่าข้อตกลงการลงโฆษณาใน Facebook นั้นได้ห้ามการทำโฆษณาในเชิงเหยียดอยู่แล้ว  ซึ่งทาง Facebook ก็พร้อมจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดหากพบผู้ลงโฆษณาใดฝ่าฝืนกฎนี้

ทั้งนี้ระบบโฆษณาของ Facebook นั้นมีพื้นฐานอยู่ที่การยิงโฆษณาไปยังกลุ่มผู้ใช้ที่ตรงตามที่ผู้ลงโฆษณาต้องการ  ดังนั้นแล้ว Facebook จึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้และทำการแบ่งหมวดหมู่ผู้ใช้เป็นประเภทย่อยๆ รวมแล้วเกือบ 50,000 ประเภท (ผู้ใช้คนเดียวสามารถเข้าเงื่อนไขได้หลายประเภทเช่นกัน) ซึ่งเรื่องของเชื้อชาติก็รวมอยู่ในประเภทเหล่านี้ด้วย

ที่มา – ProPublica

ความเห็นของเรา

ในอดีตนั้นอาจจะบอกได้ว่าสหรัฐอเมริกาเริ่มสร้างชาติขึ้นมาได้จากการเหยียดชาติพันธุ์ก็ไม่ผิดนัก  เช่นการทำสงครามกับชนพื้นเมือง  หรือการนำเอาชาวผิวสีมาเป็นทาส  ซึ่งแม้ว่าในตอนหลังจะมีการประกาศเลิกทาส  แต่การเหยียดชาติพันธุ์ก็ยังคงฝังแน่นอยู่  จนเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้  ที่ชาวอเมริกันหันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น  และพยายามส่งเสริมให้มนุษย์ทุกชาติพันธุ์มีความเท่าเทียมกัน (อย่างน้อยก็ในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งในจุดนี้ก็นับว่าเป็นข้อดีที่ชาวอเมริกันได้เรียนรู้และพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเองในอดีต

ส่วนในประเทศไทยเรานั้น  การเหยียดชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์ของเราอาจจะไม่ได้รุนแรงอย่างในสหรัฐอเมริกา  ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  หรือการจับคนมาเป็นทาสเยี่ยงสัตว์  แต่ประเด็นทางประวัติศาสตร์ก็ทำให้ยังมีการเหยียดชาติพันธุ์กันอยู่เรื่อยๆ  ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องการเหยียดนี้บ้างแล้วเช่นกัน