ออสเตรเลียเตรียมปรับพิกัด GPS เนื่องจากทวีปเคลื่อนตัวกว่าปีละ 7 ซม

เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้เปลือกโลกของเรายังเคลื่อนตัวอยู่  และส่งผลให้ดินแดนต่างๆ บนพื้นโลกมีการขยับเขยื้อนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยเฉพาะทวีปออสเตรเลียที่เป็นเหมือนเกาะใหญ่กลางมหาสมุทร  ที่เคลื่อนที่ขึ้นเหนือเข้าหาแผ่นดินใหญ่เฉลี่ยปีละกว่า 7 เซนติเมตรเลยทีเดียว

นั่นเท่ากับว่านับตั้งแต่ปี 1994 ที่มีการปรับพิกัดครั้งล่าสุด  จนถึงปี 2016 ทวีปออสเตรเลียเคลื่อนตัวไปแล้วราว 1.5 เมตร  ซึ่งในสมัยก่อนที่เราใช้ GPS ร่วมกับแผนที่ปกติ  การคลาดเคลื่อนเพียงแค่เมตรเดียวถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก (ก้าวเท้าสองสามก้าวก็เกินแล้ว) หากแต่ปัจจุบันเทคโนโลยีหลายอย่างต้องพึ่งพาความแม่นยำของ GPS โดยเฉพาะระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์  ซึ่งการที่พิกัดเคลื่อนไปเพียงแค่เมตรเดียวนั้นอาจจะทำให้รถวิ่งผิดเลนจนเกิดอันตรายได้

ดังนั้นแล้วทางการออสเตรเลียจึงมีแผนที่จะปรับปรุงจุดอ้างอิง GPS (หรือที่เรียกว่า Geodetic Datum) เสียใหม่  จากของเดิมที่เคยกำหนดไว้ใน Geocentric Datum of Australia 1994 (GDA94) ไปใช้จุดอ้างอิงใหม่ที่เรียกว่า Geocentric Datum of Australia 2020 (GDA2020) แทนในปี 2017 นี้  ซึ่งจะเป็นการปรับพิกัดของออสเตรเลียไปจากปัจจุบันราว 1.5 เมตร  ให้ตรงกับตำแหน่งจริงๆ มากขึ้นครับ

ความเห็นของเรา

ทุกวันนี้เราพึ่งพาตำแหน่ง GPS กันเยอะมากจริงๆ ครับ  ยิ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ยิ่งมีการพึ่งพาความแม่นยำจาก GPS มากยิ่งขึ้น  ทั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ  หรือบริการขนส่งสินค้าด้วยโดรน  ดังนั้นแล้วความแม่นยำของ GPS จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับประเทศไทยเรา  เราใช้จุดอ้างอิง GPS อยู่ด้วยกันสองระบบ  นั่นคือ Indian 1975 และ WGS84 ครับ

ที่มา – Mashable