รีวิว Xiaomi Mi Note มือถือระดับราชา แต่ราคาติดดิน

Xiaomi หรือเรียกแบบไทยว่า “เสียวหมี่” อาจไม่คุ้นหูสำหรับคนนอกวงการ แต่ถ้าเป็นคนไอทีจะรู้ดีกว่า Xiaomi เป็นบริษัทมือถือจีนที่มาแรงมาก ซึ่งจุดเด่นของค่ายนี้ก็คือ สเป็กราชา ราคาติดติด ซึ่งฟังดูก็ไม่ต่างจากแบรนด์จีนทั่วไป แต่จุดขายที่เด่นกว่ารายอื่นก็คือ “รอม” ที่ชื่อว่า MIUI

เพื่อความอิ่มเอมของรีวิว Mi Note ก็ขอย้อนอดีตเล่าที่มาสักเล็กน้อยให้รู้ว่าเดิมที Xiaomi ไม่ได้ผลิตมือถือขายตั้งแต่แรก แต่เค้าเริ่มจากการปรับแต่ง Android และใช้ชื่อว่า MIUI ซึ่งถือเป็นการปฎิวัติวงการก็ว่าได้ เพราะรอมปรุงแต่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องฟีเจอร์แต่ไม่เน้นหน้าตา ในขณะที่ MIUI เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหลงไหลใน MIUI จนในที่สุด Xiaomi ก็เริ่มหันมาผลิตมือถือเอง

สเป็ก Xiaomi Mi Note

  • ซีพียู Snapdragon 801
  • แรม 3 GB
  • หน่วยความจำภายใน 16 GB หรือ 64 GB
  • หน้าจอ 5.7 นิ้ว แบบ IPS ความละเอียด Full HD
  • กล้องหลังความละเอียด 13 ล้าน มีเลนส์กันสั่น OIS และแฟลชคู่
  • กล้องหน้าความละเอียด 4 ล้าน แบบ UltraPixel
  • แบตเตอรี่ 3000 mAh
  • รองรับระบบ Quick Charge 2.0
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม และ 4G LTE ( ไม่รองรับ 4G ในไทย )
  • ระบบเสียง Hi-Fi 24-bit/192KHz รองรับการเล่นเพลงไฟล์แบบ lossless
  • น้ำหนัก 161 กรัม

ความโหดเหี้ยมของ Mi Note ก็คือราคาเปิดตัวที่เสมือนฆาตรกรอำมหิตเชือดคู่แข่งให้ขาดใจตาย เพราะรุ่น 16 GB คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท ส่วน 64 GB ก็ประมาณ 15,000 บาท …แต่เอาเข้าจริงขายดีจนผลิตไม่ทัน ราคาเลยดีดขึ้นไปสูงกว่าราคาจริง คล้ายกับช่วงที่ iPhone เปิดตัวใหม่ๆ แล้วราคาแรงเกินจริง

DSC00067[1]

ขนาดหน้าจอ 5.7 นิ้วเท่ากับ Galaxy Note 4 แต่ถ้าเทียบสัดส่วนกันแล้ว Mi Note บางกว่ากันพอสมควร รวมถึงน้ำหนักราว 161 กรัม ซึ่งถือว่าค่อนข้างเบาสำหรับหน้าจอขนาดนี้

DSC00063_Fotor[1]

เรื่องของ ergonomic หรือการออกแบบให้เข้ากับสรีระของเรา ถือว่าทำได้ดีมากเนื่องจากขอบด้านหลังโค้งรับกับอุ้งมือเวลาถือ นอกจากความสวยงามแล้วก็ยังแข็งแรงด้วย เพราะใช้  Gorilla Glass 3 ทั้งหน้าจอและฝาหลัง ซึ่งด้านหน้าเป็นแบบ 2.5D ส่วนด้านหลังเป็น 3D จึงไม่มีส่วนที่เป็นเหลี่ยมให้บาดมือ

Mi Note ยังใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคนที่ชอบถ่ายรูปจะรู้ดีว่าการวางปุ่มไว้ด้านซ้ายจะไม่สามารถตั้งตัวเครื่องกับพื้นได้ ดังนั้นปุ่มปรับเสียงและปุ่มเปิด-ปิดของ Mi Note ถูกวางไว้ด้านขวาทั้งหมด

DSC00061[1]

หน้าจอขนาด 5.7 นิ้ว กับความละเอียด Full HD ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ในที่โล่งแจ้งก็สามารถสู้แสงได้ดี ส่วน 3 ปุ่มล่างเรียงลำดับจาก recent apps, home, back ก็สามารถปรับแต่งเพิ่มเติมได้ เช่น เปลี่ยน recent apps เป็น menu รวมถึงตั้งได้ว่าถ้ากดค้างจะให้ทำอะไร เช่น กด back ค้างเพื่อปิดแอป

DSC00069_Fotor[1]

แรม 3 GB หมดไปกับตัวระบบ ทำให้เหลือใช้จริงราว 1 GB และเมื่อเริ่มใช้งานแอปพื้นฐานก็จะเหลือประมาณ 600 MB แต่ปริมาณแรมที่เหลือไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ตราบใดที่เครื่องยังทำงานได้ลื่นไหล

ตัวรอมเดิมๆ จะเป็นลูกครึ่งจีนผสมอังกฤษและไม่มี Google services เนื่องจากที่จีนไม่ใช้ Google ดังนั้นต้องติดตั้งเพิ่มเติมเอง แต่ทีมงาน www.miui.in.th ซึ่งเป็นแฟนไซต์อย่างเป็นทางการในไทยก็ได้ปล่อยรอมภาษาไทยออกมาให้ทดสอบแล้ว พร้อมกับติดตั้ง Google services มาให้ในตัว

Launcher ไม่มี App drawer และใช้วิธีเทกระจาดแอปทั้งหมดไว้ที่หน้าจอ ซึ่ง MIUI เป็นเจ้าแรกๆ ที่นำรูปแบบนี้มาใช้กับแอนดรอย ส่วนแถบแจ้งเตือนด้านบน มีบอกปริมาณเน็ต รวมถึงเครือข่ายที่ใช้ และการสลับระหว่างการแจ้งเตือนกับการตั้งค่าด่วน ใช้วิธีปัดซ้าย-ขวา

ที่น่าสนใจคือ เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้แอปใดบ้างแสดงผลบนแถบแจ้งเตือน และยังเลือก Show floating notification ได้ด้วย ซึ่งเป็นการพรีวิวข้อความในลักษณะคล้ายกับ iOS นั่นเอง

DSC00088_Fotor[1]

ระบบธีมของ MIUI ถือว่าจัดจ้านมาก สมกับเป็นรายแรกๆ ที่บุกเบิกเรื่องนี้ เพราะมีธีมให้เลือกเยอะมาก และไม่ใช่แค่เปลี่ยนหน้าตา แต่ยังเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานอีกด้วย โดยเฉพาะหน้า Lock screen ซึ่งมีทั้งฟรีและแบบเสียเงิน

และรุ่นนี้รองรับการปลดล็อกหน้าจอด้วย Bluetooth เช่น Mi Band หรือหูฟังต่างๆ เมื่อเข้าใกล้ระยะที่ตัวเครื่องมองเห็น ก็ไม่ต้องกรอกรหัสสำหรับปลดล็อกหน้าจอ แต่ถ้าอยู่นอกระยะก็ต้องใส่รหัสตามปรกติ ซึ่งช่วยรักษาความปลอดภัยและเพิ่มความสะดวกพอสมควร

DSC00079_Fotor[1]

ลำโพงที่วางไว้ด้านล่างของเครื่องก็ถือว่าน่าประทับใจ นอกจากเสียงที่ดังก็ยังมีเรื่องของคุณภาพเสียงที่ดี และ Mi Note มีชิบเสียง ESS ES9018K2M ทำให้สามารถขับไฟล์เสียง 192 kHz/24 bit และจะได้เสียงที่ดีที่สุดเมื่อใช้ควบคู่กับหูฟังที่มีคุณภาพ

DSC00086_Fotor[1]

แอป Security เปรียบเสมือนห้องควบคุมของเครื่องก็ว่าได้ มีระบบ Cleaner สำหรับทำความสะอาดเครื่องซึ่งใช้ระบบของ Clean Master ซึ่งอาจจะดูธรรมดา แต่ Data usage นี่ไม่ธรรมดาเพราะสามารถตั้งค่าแต่ละแอปได้ว่าจะให้เชื่อมต่อ WiFi หรือ Mobile Data ได้หรือไม่ และยังมีระบบช่วยประหยัดค่าเนทด้วยการบีบอัดข้อมูล ซึ่งใช้ระบบของ Opera

Blocklist ก็ตรงไปตรงมาคือการบล็อกเบอร์ที่ไม่ต้องการ ส่วน Battery มีลูกเล่นให้ปรับแต่งได้เยอะพอควร สามารถสร้าง Profile เพิ่มเติมได้ และมี Auto Schedule สำหรับตั้งเวลาปรับเปลี่ยน Profile อัตโนมัติ รวมถึงการเลือกรูปแบบการใช้พลังงานระหว่าง Balance เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนาน และ Performance สำหรับการรีดประสิทธิภาพ ส่วน Virus scan ใช้ห้องเครื่องของ Tencent ซึ่งมีไว้เพื่อความสบายใจ เพราะมีโอกาสน้อยมากๆ ที่มือถือจะติดไวรัส

และสุดท้ายคือ Permissions ที่ถือว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่าง เริ่มตั้งแต่การจัดการว่าจะให้แอปไหนเริ่มทำงานตั้งแต่เปิดเครื่อง และสามารถจัดการสิทธิ์ของแต่ละแอปได้ เช่น ให้สิทธิ์การเชื่อมต่อเน็ต ให้สิทธิ์การส่งข้อความ และสุดท้ายคือ root access ที่จะมีเฉพาะบนรอมรุ่น developer ทำให้สามารถใช้งาน root ได้ทันที

DSC00081[1]

สามารถบันทึกเสียงการโทรได้ และสามารถตั้งให้บันทึกอัตโนมัติได้ด้วย มีการสั่นเตือนเมื่อปลายทางรับสาย ส่วนการส่งข้อความก็มีสิ่งที่เรียกว่า Mi Message ก็คือถ้าปลายทางใช้ MIUI และทำการ activate เรียบร้อย ก็จะส่งข้อความฟรีผ่านระบบของ Xiaomi

DSC00093_Fotor[1]

จุดเด่นที่แข็งปั๊กของ Xiaomi นอกจากปล่อยอัพเดททุกเดือน หรือทุกวันศุกร์สำหรับ developer rom ก็ยังมีเรื่องของ 2 System ซึ่งมือถือทั่วไปถ้าเกิดปัญหาก็ต้องแก้ด้วยการล้างเครื่อง ทำให้ข้อมูลหายทั้งหมด แต่ Xiaomi ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะสามารถเรียกใช้อีก System ได้

ซึ่งหลักการทำงานของ 2 System จะใช้วิธีอัพเดทสลับกันทุกครั้ง ทำให้สามารถย้อนกลับมายัง System ก่อนหน้าได้ถ้าเกิดความผิดพลาด

DSC00084_Fotor[1]

กล้องเป็นอีกส่วนของ Mi Note ที่เด่นกว่ารุ่นเดิมมาก คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า Mi Note มีกล้องหน้าและหลังดีอันดับต้นๆ โดยเฉพาะการใช้งานจริงกับ 7 โหมด ได้แก่

  • Normal
  • Panorama
  • Countdown
  • Refocus
  • Manual
  • Highlight tones ( Beauty mode )
  • HHT ( Handheld Twilight )

ที่น่าสนใจคือ Refocus และ Manual ซึ่ง Refocus ใช้สำหรับถ่ายก่อนและเลือกโฟกัสทีหลัง กดถ่ายเสร็จสามารถเก็บมือถือได้ทันทีไม่ต้องรอให้ประมวลผลเสร็จ และการเลือกตำแหน่งโฟกัสทำได้ค่อนข้างละเอียด ส่วน Manual ต้องบอกว่าเด็ดมาก โดยเฉพาะการตั้งค่า Exposure time ได้ตั้งแต่ 1/1000 วินาที ไปจนถึง 32 วินาที และปรับ ISO ได้ถึง 3200

ในโหมด Normal ยังมีจุดเด่นเรื่อง HDR ที่เลือกได้ทั้ง Auto, Normal, Live, Off ซึ่งแบบ Auto ก็ทำงานได้ดีและถ่ายได้สะดวกมาก ไม่ต้องวัดแสงให้ปวดหัว แค่กดถ่ายภาพก็สว่างดูดี และที่เด็ดกว่านั้นคือ HDR Live ซึ่งจะทำการพรีวิวตัวอย่างให้ดูก่อนถ่ายและถ่ายเร็วมาก ไม่ต้องรอประมวลผลเหมือนแบบ Normal แต่ถ้ามองอย่างจับผิดก็จะเห็นว่า HDR Normal จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า HDR Live

ส่วนไฟแฟลชก็สามารถตั้งค่า Chroma Flash ได้ ซึ่งจะทำการถ่าย 2 รูปมาประมวลผล คือรูปแบบเปิดและปิดแฟลช เพื่อให้ได้ภาพที่สว่างทั่วทั้งภาพ ต่างจากมือถือทั่วไปที่เปิดแฟลชแล้วฉากหลังจะมืด ซึ่งการถ่ายแบบ Chroma Flash ใช้ระยะเวลาไม่ต่างจากการถ่ายปรกติ

นอกจากจะแตะหน้าจอเพื่อโฟกัสได้แล้ว ก็ยังสามารถแตะอีกครั้งเพื่อถ่ายรูปได้ด้วย หรือจะหมุนเป็นวงกลมเพื่อปรับค่าชดเชยแสงก็ได้ เรียกได้ว่าครบครันและถ่ายสนุก โดยเฉพาะ OIS ที่ช่วยให้ภาพเบลอน้อยลงและถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น

ส่วนกล้องหน้าที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่กว่าปรกติอย่าง UltraPixel ทำให้การ selfie เป็นเรื่องสนุก ภาพค่อนข้างสว่าง เก็บรายละเอียดได้ดีมาก และยังมีลูกเล่นสำหรับวัดอายุจากใบหน้าด้วย

ตัวอย่างภาพถ่าย

2015-02-20-14.49.56[1]

ในที่โล่งแจ้งแสงเพียงพอสามารถเก็บรายละเอียดได้ดีและภาพมีมิติ

2015-02-20-22.17.16[1]

ภายใต้แสงไฟยามค่ำคืนยังคงให้รายละเอียดที่น่าประทับใจ

chroma-flash[1]

Chroma flash ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ยังไม่เคยเจอมาก่อน ฉากหลังไม่มืดเหมือนการเปิดแฟลชทั่วไปทำให้เก็บรายละเอียดได้ดีขึ้น

hdr[1]

HDR ที่สามารถตั้งแบบ Auto ได้ก็ทำให้การถ่ายรูปเป็นเรื่องง่าย ส่วน Normal จะได้สีสันที่จัดจ้านแต่ใช้เวลาประมวลผลประมาณ 2 วินาที ต่างจากแบบ Live ที่ถ่ายต่อเนื่องได้ทันที

2015-02-20-14.38.55[1]

กล้องหน้ามีมุมค่อนข้างกว้าง ให้รายละเอียดที่ค่อนข้างดี ส่วนโหมดหน้าเนียนที่ปรับได้ 3 ระดับก็ไม่เนียนจนหลอกตา

ความเห็นจากทีมข่าวล้ำหน้า

DSC00065_Fotor[1]

ในภาพรวมถือว่า Mi Note เป็นอีกรุ่นที่น่าใช้มาก แม้ว่าหน้าจอจะมีขนาดใหญ่ แต่การออกแบบตัวเครื่องทำได้ดีถึงขั้นประทับใจ โดยเฉพาะกล้องและเสียงที่ทำได้ดีมาก แต่ข้อเสียหลักก็คือ NFC ที่ถูกตัดออกไป รวมถึง 4G ที่ไม่ตรงกับความถี่ในไทย ทำให้ไม่สามารถใช้ 4G ได้อย่างที่ควร

แฟนคลับ MIUI มักจะติดตั้ง developer rom เพราะจะได้รับการอัพเดททุกวันศุกร์ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นอาการเสพติดอย่างหนึ่งที่ทำให้เฝ้ารอการมาของวันศุกร์ และแฟนๆ รู้ดีว่าค่ายนี้ไม่มีคำว่าลอยแพ ดังนั้น Mi Note จึงมีจุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งในแง่ของการอัพเดทด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบใช้จริงพบว่า developer rom ยังคงมีข้อผิดพลาด เช่น Accessibility service ปิดตัวเองในบางครั้ง